svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ระดมความคิดเห็นประชาชนฟื้นเอฟทีเอไทย-อียู

10 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเวทีระดมความเห็นเรื่องโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรปทั่วประเทศ เริ่มเวทีแรกที่ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ระดมมันสมองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมถกกว่า 150 ชีวิต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดเวทีระดมความเห็นเรื่องโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทย-สหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมไบรท์ตัน แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเวทีแรกที่จัดขึ้นก่อนเดินสายจัดในภูมิภาคอื่นๆ การสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญนักวิจัยจากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งกรมฯมอบให้ศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ที่ประชุมทราบ รวมทั้งได้เชิญวิทยากรจากภาครัฐและเอกชนนำเสนอมุมมองเรื่องโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อด้วยการเปิดเวทีเพื่อระดมความเห็นจากผู้เข้าร่วม ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนกลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคมในภาคตะวันออก กว่า 150 คน

 


ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียูจะเป็นโอกาสขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วนรวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศหรืออย่างน้อยป้องกันไม่ให้การลงทุนไหลออกไปยังประเทศอื่นที่อียูมีเอฟทีเอด้วยเช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้นรวมทั้งอินโดนีเซียที่การเจรจากับอียูมีความคืบหน้า ทั้งนี้บางส่วนมีมุมมองว่าการฟื้นเจรจามีความท้าทายเนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูงทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆเช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญาการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น

 


นางอรมน กล่าวว่า สำหรับสหภาพยุโรปหรืออียูเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 513 ล้านคน มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 36,531ล้านเหรียญสหรัฐ มีสมาชิกถึง 28 ประเทศจึงมีความสำคัญกับไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุนในอันดับต้นๆโดยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย รองจาก อาเซียน และจีนและมาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น จีน และอาเซียนดังนั้นการที่อียูได้ลงนามจัดทำเอฟทีเอกับเวียดนาม และสิงคโปร์แล้วซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับหลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภายุโรปภายในปีนี้และอาจส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ได้เปรียบไทยในตลาดอียูเพราะภายใต้เอฟทีเออียู-เวียดนามอียูจะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้ากว่าร้อยละ 71ของสินค้าทั้งหมดจากเวียดนามในทันที สำหรับสินค้าที่เหลือรวมแล้วกว่าร้อยละ 99จะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 7 ปี ขณะที่ภายใต้เอฟทีเออียู-สิงคโปร์อียูจะยกเลิกภาษีที่เก็บกับสินค้ากว่าร้อยละ 80ของสินค้าทั้งหมดจากสิงคโปร์ในทันทีสำหรับสินค้าที่เหลือจะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 3-5 ปี ซึ่งมีโอกาสสูงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอียูให้กับ2 ประเทศนี้จึงถือเป็นความท้าทายของไทยเป็นอย่างมากในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

 


สำหรับการเปิดเวทีระดมความเห็นเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในระดับภูมิภาคครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562  จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562และจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 หลังจากนั้น จะรวบรวมผลการระดมความเห็นและผลการศึกษาวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน2562 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป

 


ในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า22,249.16ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบินเครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.ส.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 29,757.10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 16,093.10 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 13,664 ล้านเหรียญสหรัฐ

logoline