svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"วิชา มหาคุณ" ถึง "คณากร"

10 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายหลังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มีมติให้ตั้งอนุกรรมการวิสามัญ เพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นก่อเหตุยิงตัวเอง หลังการพิจารณาคดีหนึ่งภายในศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

อนุกรรมการชุดนี้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ประกอบด้วย นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และนายสุวิชา สุขเกษมหทัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา โดยทั้ง 3 คนจะมีเวลา 15 วันเพื่อหาข้อมูลสืบสวนเพื่อรายงานผลกลับไปให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
แต่ขณะนี้ยังมีคำถามว่ามูลเหตุสำคัญของการตัดสินใจของนายคณากรมาจากอะไร โดยเฉพาะคำถามจากสังคมที่พุ่งไปสู่วงการผู้พิพากษา ต่อหลักความเป็นอิสระในฐานะ "ตาชั่ง" แห่งความยุติธรรมเป็นอย่างไร
ศาสตราจารย์พิเศษ "วิชา มหาคุณ" คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา มองถึงประเด็นนี้ว่า ความอิสระเป็นหลักวิชาอาชีพของกฎหมาย และเป็นหลักเฉพาะของผู้พิพากษาในฐานะผู้ใช้อำนาจตุลาการ การแทรกแซงอำนาจตุลาการจะทำมิได้
เพราะเป็นอำนาจอิสระที่ต้องรักษาไว้ เพื่อให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมกับประชาชน ผู้พิพากษาต้องไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ไม่มีความความกลัว ความรัก ความโกรธความหลงใดๆ ความกลัวก็คือผู้บังคับบังคับบัญชาสั่งให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ จะสั่งไม่ได้ เพราะขัดกับหลักความเป็นอิสระ
"แต่ปกติผู้พิพากษาจะมีการวางหลักในการตรวจคำพิพากษา แต่ไม่ใช่การแทรกแซงดุลยพินิจ ถ้าผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาด้านหน้าที่การงาน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีตำแหน่งสูงกว่า แต่บังคับบัญชาในฐานะเป็นผู้อาวุโสหรือว่าอยู่ในฐานะที่ต้องกำกับดูแล เช่น หัวหน้าศาลมีหน้าที่ดูแลผู้พิพากษาที่อยู่ในศาล"
"วิชา" บอกไว้ว่าตามหลักแล้วจะมีการตรวจคำพิพากษาแม้แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา จะเรียกว่าผู้ช่วยผู้พิพากษาว่าตรวจว่า มีการร่างคำพิพากษาถูกต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์บรรทัดฐานหรือไม่ แต่เป็นการตรวจเพื่อให้ข้อสังเกต ถ้าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจกำกับดูแลไม่เห็นด้วย ก็สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งหลักการทำความเห็นแย้งถือเป็นเรื่องธรรมดามาก และมีอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนเนื้อหา
ส่วนกรณีหากผู้พิพากษาถูกแทรกแซงจากรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะมีกลไกปกป้องความอิสระของผู้พิพากษาหรือไม่
"วิชา" ยืนยันว่ามีกลไกตรงนี้ คือ คณะกรรมการตุลาการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาทั้งหลาย
อย่างที่มีกรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่คณะกรรมการตุลาการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่ถึงเป็นการตรวจสอบด้านวินัย แต่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการแทรกแซงจริงหรือไม่ หรือกระทบต่อหลักจริยธรรมของผู้พิพากษาหรือไม่
แนวทางการตรวจคำพิพากษามีอยู่แล้ว แต่จะบังคับให้เขาเปลี่ยนดุลยพินิจไม่ได้ เมื่อตรวจสอบแล้วก็เสนอกลับไปที่คณะกรรมการตุลาการ เพื่อต้องพิจารณาว่ามีการละเมิดหลักจริยธรรมผู้พิพากษาหรือไม่ หรือมีเบื้องหลังเบื้องลึกเรื่องนี้อย่างไร
"การให้ตุลาการมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน เปรียบเทียบว่าถ้ามีคดีอยู่ที่ศาลแต่มีคนไปบังคับว่า ผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีให้เป็นแบบนี้ ก็ต้องรู้สึกได้ว่าเอ๊ะยังไง เพราะการใช้วิธีการแทรกแซงจึงเป็นเรื่องมิชอบ"
"วิชา" ย้อนไปในอดีตเมื่อปี 2546 เคยเป็นประธานอบรมผู้พิพากษา ตั้งแต่นายคณากรยังเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ขณะนั้นตนยังอยู่ที่ศาลฎีกา ยอมรับว่าทั้งรุ่นที่ร่วมอบรมกับนายคณากรไม่มีปัญหาเลย รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ดี โดยเฉพาะมีจริยธรรมที่สูงมาก
จากนั้น 17 ปีที่ผ่านมารุ่นนี้ทั้งรุ่นไม่มีเรื่องร้องเรียนในทางไม่ดี เป็นสิ่งที่ได้รับคำชมอย่างมาก พอได้ข่าวก็ตกใจเหมือนกัน
"เรื่องที่เกิดขึ้นต้องตรวจสอบ ไม่ใช่ไปตามข่าวที่ไปเกี่ยวกับพรรคการเมืองไม่ใช่เลย หรือเรื่องที่จะมีสะพานไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร มันไม่ใช่ เราต้องดูว่าเมื่อมาอยู่ตรงนี้มีการแทรกแซงหรือเปล่า การตรวจสอบต้องทำอย่างระมัดระวัง ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่ควรจะให้ความเห็นเหมือนเรื่องทั่วไป เพราะจะสะเทือนถึงการให้ความยุติธรรมกับประชาชน และตั้งแต่อดีตผู้พิพากษาทำหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นหลักเรื่องความเป็นอิสระ ถือเป็นเรื่องมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด" อดีตผู้พิพากษารุ่นพี่ กล่าวเตือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เกมพลิก!!!
  • logoline