svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นับ​ 1​ สงครามแบนสารเคมี​เกษตร​ ยังมีอีกหลายยก!

10 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การแบน สารเคมีเกษตรมีความซับซ้อนเป็นมากกว่านั้นเพราะมีมูลค่ามหาศาลกว่า 2 หมื่นล้านบาท กระทบกับผู้มีอิทธิพลหลายส่วน มีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ กลุ่มที่สนับสนุน การใช้สารเคมี จะลุกฮือชุมนุมประท้วงและเคลื่อนไหวคัดค้าน การแบนสารเคมีทางการเกษตร อย่างถึงที่สุด

เส้นทางในการแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดดูจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่เจ้ากระทรวง 4 กระทรวงที่มีตัวแทนนั่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกมายืนยันว่าจะแบนสารเคมีเหล่านี้อย่างแน่นอน แต่ก็ดูเหมือนว่า มันจะเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เมื่อมีกลุ่มที่ต้องการใช้สารเคมี เปิดตัวเปิดหน้ากันในวันนี้

ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักข่าวที่ไปทำข่าวที่กระทรวงเกษตรในวันนี้ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีกลุ่มหนุน-กลุ่มต้านมาเผชิญหน้ากันที่กระทรวง



ผมมากระทรวงเกษตรฯ จากหมายเชิญทำข่าวของเครือข่ายยุติสารเคมีเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคม "ไบโอไท" "ไทยแพน" ที่ติดตามเรื่องนี้มานานแล้ว ได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เพื่อพูดคุยถึงแนวทางในการทำเกษตรยั่งยืน และผลักดันพระราชบัญญัติเกษตรยั่งยืนหลังจากนี้

แต่ในวันและเวลาเดียวกันก็มีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเปิดหน้าว่าเป็น" เกษตรกรที่เดือดร้อนจัดการแบน 3 สารเคมีเกษตร" ใช้ชื่อว่า สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และกลุ่มคนรักแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และมีกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปทุมธานี มาร่วมในการคัดค้านแบรนด์สารเคมีด้วย

พวกเขายืนยันว่าสารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิดที่ใช้เป็นยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง "ไม่มีสารตกค้างอยู่ในพืชผักต่างๆมีผลตรวจจาก Lab ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหลักฐานเดิมที่มีมาอยู่นานแล้ว" และโจมตีว่าข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข นำมาเผยแพร่เพื่อแทนสารเคมีถูกล็อบบี้จากกลุ่ม NGO

แต่มาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ถือว่าได้รับการยอมรับและ ผมยืนยันเลยว่าเป็นความจริงที่พืชผักต่างๆมีสารเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ในปริมาณที่อันตราย และถ้าเราไปตรวจเลือดดู คนที่ชอบกินผักก็จะพบว่ามีร่องรอยจากสารพิษ 3 ชนิดนี่ตกค้างอยู่ในเลือดด้วย

มีข้อมูลต่างๆอีกมากมายที่จะยืนยัน ว่าสารเคมี 3 ชนิดนี้ตกค้างในพืชผักจริงๆ แล้วก็เป็นอันตรายต่อประชาชน แต่ในเชิงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต้องยอมรับว่า "ถูกและดี" สำหรับพวกเค้า

การแบน สารเคมีเกษตรมีความซับซ้อนเป็นมากกว่านั้นเพราะมีมูลค่ามหาศาลกว่า 2 หมื่นล้านบาท กระทบกับผู้มีอิทธิพลหลายส่วน มีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ กลุ่มที่สนับสนุน การใช้สารเคมี จะลุกฮือชุมนุมประท้วงและเคลื่อนไหวคัดค้าน การแบนสารเคมีทางการเกษตร อย่างถึงที่สุด

เมื่อมองข้ามช็อตต่อไป หากว่ามีการแบนสารเคมี 3 ชนิดขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อก็คือการขึ้นโรงขึ้นศาลกันระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ กับกลุ่มที่คัดค้านการแบนสารเคมี คือกลุ่มเกษตรกรที่มากระทรวงเกษตรในวันนี้ ซึ่งก็เตรียมที่จะฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข

แต่ถ้ามองข้ามไปมากกว่าเรื่องของการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล... หลังจากนี้ต้องโฟกัสไปที่สารทดแทน สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด

ผมพบเอกสารของกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับวิธีทดแทนพาราควอต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมี ที่กำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการยกเลิกการใช้และนำเข้า โดยเอกสารปรากฎชื่อ นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรกรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้สรุปความเห็นในการประชุมเตรียมข้อมูลการใช้สารและสิ่งทดแทนสารเคมีทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า

ในช่วงแรกของการระงับใช้พาราควอต วิธีทดแทนที่จะใช้มากที่สุดคงจะเป็นการใช้สารเคมีอื่นทดแทน แต่เชื่อได้ว่า การพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนพาราควอต จะยิ่งก้าวหน้าเร็วขึ้น เพราะมีโอกาสทางการตลาดมากขึ้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตรในประเทศไทย รวมถึงจะมีการพัฒนาเทคนิคการใช้เครื่องจักรกลเกษตรกำจัดวัชพืชให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นปรับเวลาปลูกอ้อยไม่ให้ช่วงอายุ 3-4 เดือนแรกตรงกับฤดูฝน การปรับแปลงผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ให้มีระยะระหว่างแถว และปรับความเรียบของพื้น ให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้น

"กลไกที่รัฐบาลควรจะพิจารณาคือการสนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการกำจัดวัชพืชซึ่งปัจจุบันจะเสียเปรียบการใช้สารเคมี เพราะการซื้อเครื่องจักรกลเกษตรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่การซื้อสารเคมีไม่ต้องเสียภาษี"

ที่นี้มาดูที่ความเคลื่อนไหวในแวดวงเกษตรกร ผมพบว่ามีการส่งต่อกันข้อมูลสารทดแทน พาราควอต คือ" กลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม" กลุ่มสารเคมี Phosphinic acid ตอนนี้ราคา 2 พันกว่าบาท/แกลลอน ขนาดที่พาราควอตไกลโฟเซตราคา 600 กว่าบาท/แกลลอน

ขณะที่การกำจัดแมลง ศัตรูพืช มีการแนะน้ำส้มควันไม้ทดแทนสารเคมี ไว้สำหรับฉีดไล่เพลี้ย ไล่หนอน ไล่แมลง ดับกลิ่นตามคอกปศุสัตว์ เหมาะสำหรับ ท้องไร่ ท้องนา ไม้ผล ไม้ประดับ และสัตว์เลี้ยง

สารที่มาทดแทน ถ้าเป็นสารอินทรีย์อย่างน้ำส้มควันไม้ก็ไม่น่ากังวล แต่สารทดแทนอย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้วก็อยู่ในกลุ่มสารเคมี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะมีสารตกค้างในพืชผักซ้ำรอยกับพาราควอต ฯลฯ หรือไม่

อาจารย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้ศึกษา สารทดแทนในกลุ่มสารเคมี ซึ่งมีรายชื่ออยู่กว่า 100 รายชื่อว่าจะมีสารตกค้างและเป็นอันตราย ซ้ำรอยกับสารเคมีเดิมที่กำลังจะแบนหรือไม่

นี่.. ยังคงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการแบนสารเคมีทางการเกษตรเท่านั้น ซึ่งชีวิตจริงของเราในโลกปัจจุบันไม่อาจสามารถหนีสารเคมีพ้นไปได้?

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline