svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

15 มาตรการ ...เพื่อแก้ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5"

13 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ธันวา ไกรฤกษ์" นักการเมืองผุ้ที่มีข้อมูลแนวทางแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 มากที่สุดรายหนึ่ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เผย 15 มาตรการ ..เพื่อแก้ปัญหา 'ฝุ่น PM 2.5' ในเขตกรุงเทพ และพื้นที่ภาคเหนือ โดยระบุว่า...

15 มาตรการ ..เพื่อแก้ปัญหา 'ฝุ่น PM2.5' ในเขตกรุงเทพ และพื้นที่ภาคเหนือ
1.ตั้ง 'คณะกรรมการอากาศแห่งชาติ' โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อยกระดับความสำคัญของปัญหาอากาศ ต่อมาจึงแยกย่อยเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความรู้ความสามารถได้เข้ามามีส่วนร่วม
2.ต้อง 'ตั้งเป้า' ลดปริมาณรถควันดำลงให้ได้ 80% ภายใน 1 ปี โดยใช้มาตรการตรวจจับควันดำอย่างเข้มงวด รวมไปถึงเพิ่มมาตรฐานการตรวจสภาพรถยนต์เพื่อต่อภาษี และต้องมีบทลงโทษต่อตรอ.รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกที่มีส่วนในความบกพร่อง
3.กระทรวงอุตสาหกรรรมต้องส่งเสริมรถไฟฟ้า EV อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานต้องสนับสนุนให้มีสถานีชาร์จอย่างเพียงพอภายใน 1-2 ปี โดยเฉพาะในปั๊มน้ำมันที่เป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังต้องมีมาตรการจูงใจประชาชนให้เปลี่ยนมาใช้รถ EV เหมือนในต่างประเทศที่สนับสนุนด้านภาษี
4.ติดตั้งหอฟอกอากาศขนาดสูง โดยใช้หอต้นแบบจากเมือง 'ซีอาน' ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก ฟอกอากาศครอบคลุมพื้นที่ต้นละ 10 กิโลเมตร ไม่ใช่แบบต้นเล็กที่ฟอกได้เพียงแค่ 1,000 ตารางเมตร ที่กำลังเป็นข่าวว่ากทม.กำลังจะทำ
5.จัดทำ safety zone ในทุกโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ รวมถึงแหล่งชุมชนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นพุ่งสูงเกิน 100 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
6.กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตุฯ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องบูรณาการการแจ้งเตือนร่วมกัน โดยจัดทำ 'แอพพลิเคชั่น' ที่ประชาชนเข้าถึงได้ในวงกว้าง หรือเชื่อมแอพพลิเคชั่นดังกล่าวกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น Line เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการแจ้งเตือนได้อย่างแท้จริงและทันท่วงที
7.สำหรับพื้นที่ภาคเหนือต้องใช้มาตรการ 'การตลาดนำการเกษตร' เป็นหลัก เพื่อให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ไม่ต้องเผา โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน อาจเป็นในรูปแบบการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง และสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือ
8.กำหนดให้มีความรับผิดชอบทางด้านกฎหมาย ต่อผู้ประกอบการที่รับซื้อข้าวโพด/อ้อย เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ และเพื่อการอื่นๆทั้งระบบ เพื่อมิให้รับซื้อจากแปลงที่มีการเผา รวมถึงส่งเสริมการใช้ 'บทลงโทษทางสังคม' ต่อผู้ประกอบการที่ขาดจิตสำนึกสาธารณะ
9.ส่งเสริมแนวทางการ 'เพาะเห็ดถอบ' โดยต่อยอดจากงานวิจัยของมช. เพื่อหาแนวทางให้ประชาชนในภาคเหนือเลิกเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบ และหันมาเพาะเอาแทน
10.แก้ปัญหาและหาแนวทาง 'การขนย้ายตอซังข้าวโพด' จากที่ราบสูงรวมถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำตอซังส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือจุดรับซื้อต่างๆได้ ในที่นี้อาจประสานข้อมูลกับโครงการ 'โรงไฟฟ้าชุมชน' ของกระทรวงพลังงานที่กำลังริเริ่มอยู่ เพื่อพิจารณาที่ตั้งโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ให้กระจายทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ที่มีการเผา
11.รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุน 'ร่างกฎหมายอากาศสะอาด' ที่กลุ่ม 'เครือข่ายอากาศสะอาด' ได้เป็นผู้ริเริ่มไว้ และตั้งองค์กรที่รับผิดชอบด้านอากาศทั้งระบบภายใต้กฎหมายดังกล่าว โดยจะมีหน้าที่ดูแลอากาศทั้งองคาพยพในระยะยาว
12.เร่งเจรจาความร่วมมือระดับพหุภาคีกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน กรณี 'ฝุ่นควันพิษข้ามพรมแดน' โดยต้องมีข้อตกลงในการลดและควบคุมสาเหตุร่วมกันอย่างชัดเจน ที่สำคัญกรอบระยะเวลาต้องไม่ยาวมากเกินไป
13.สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งผู้ใช้รถยนต์ เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงผลเสียจากฝุ่น PM 2.5 โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าปัจจัยการเกิดฝุ่นได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
14.ปรับวิสัยทัศน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำนึงถึงความสำคัญของต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต้องเสียไปในแต่ละปี เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ จะได้ไม่เกิดเหตุซ้ำอีก
15.ข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด คือ 'การวางคนให้เหมาะสมกับงาน' อย่าตั้งตำแหน่งใดๆเพียงเพราะเหตุผลทางการเมือง หรือมาจากเส้นสายของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง แต่ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนที่มีความรู้และประสบการณ์อย่างแท้จริงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ปล.ที่เสนอไปทั้งหมดนี้ มาจากการรับฟังผู้ที่มีใจแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลายท่าน บางข้อมีอยู่ในมติครม.แล้ว แต่หลายข้อก็ยังไม่มี ซึ่งรัฐบาลควรเปิดใจรับฟังประชาชนให้มากขึ้น
#ฝุ่นPMแก้ได้ถ้าทุกฝ่ายร่วมใจ

logoline