svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไทยได้ส่วนแบ่งตลาดจีน-สหรัฐเพิ่ม

09 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พาณิชย์" ระบุผลวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนต่อการค้าไทยในช่วง 6 เดือน นับจากเปิดศึกตั้งแต่ต้นปี และรอบใหม่ที่เริ่ม 1 ก.ย.62 พบไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ได้สรุปสถานการณ์และผลกระทบสงครามการค้าต่อการส่งออกครึ่งปี 2562และโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพหลังมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ 1 ก.ย.2562โดยพบว่าไทยยังสามารถรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดทั้งในสหรัฐฯ และจีนได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยยังมีขีดความสามารถในการส่งออกท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน และมีความผันผวนสูง

 

        

 การติดตามผลกระทบจากสงครามการค้า สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนลดลงจากสัดส่วน 20.51%ในช่วง 6 เดือนของปี 2561 เหลือ 18.02% ในช่วงเดียวกันของปีก 2562ประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ลดลง ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลีสวิตเซอร์แลนด์) อินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน และไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 1.27% เป็น1.31%

 

         ส่วนจีน นำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงจากสัดส่วน 8.17% เหลือ 6.04% ในช่วง 6เดือนของปี 2562 โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ออสเตรเลีย เยอรมนี บราซิล มาเลเซีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และไทยโดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 2.12% เป็น 2.23%

 

         สำหรับสินค้าของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และจีนภายใต้มาตรการตอบโต้ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีนกลุ่ม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐและจีนตอบโต้สหรัฐฯ มูลค่า 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น เช่น ปลานิลแช่แข็งกุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผักและผลไม้)แผงวงจรรวม สื่อเก็บข้อมูลแบบจานแม่เหล็ก น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่นผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค และสินค้าที่ไทยส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีน เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำผึ้ง แป้ง ผงที่ทำจากพืช กระดาษแข็ง ฝาพลาสติกสำรหับบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์โทรศัพท์เครื่องแก้วสำหรับใช้ในครัว อุปกรณ์ติดตั้งสำหรับเฟอร์นิเจอร์

 

         อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสินค้าข้างต้นยังมีกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจากจีนในตลาดสหรัฐฯและทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนเพิ่มเติมอีก ภายใต้มาตรการใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 1ก.ย.2562 โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ เช่น มะพร้าว ขิงทุเรียน ลูกกอล์ฟ เลนส์แว่นตา เครื่องซักผ้า ชุดชั้นในสตรี พืชมีชีวิตและต้นไม้(กล้วยไม้) และสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีน เช่นผลิตภัณฑ์นมและครีม ขนมที่ทำจากน้ำตาล (ที่ไม่มีโกโก้ผสม) ยางนอกชนิดอัดลมและเอสเซนต์เชียลบาล์ม

 

         ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ส่งออกไทยควรจะเร่งขยายการส่งออกสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯและทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนให้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และควรจะใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดทุนสหรัฐฯ กรณีที่จะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังไทย

 

         ปัจจุบัน มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว คิดเป็นมูลค่าประมาณ4.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นส่วนที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน มูลค่า 3.83แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 68% ของการนำเข้าจากจีน และจีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯมูลค่าประมาณ 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 60% ของการนำเข้าจากสหรัฐฯและหากตอบโต้กันเต็มรูปแบบตามกำหนดเดิมวันที่ 15 ธ.ค.2562 สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 5.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีน ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ เช่นยาและเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แร่และเคมีภัณฑ์ยางชนิด โลหะเครื่องจักรกลสำหรับการเคลื่อนย้าย ขนส่ง อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์ที่นั่งสำหรับเด็ก และกลุ่มสินค้าที่จีนจะขึ้นภาษีสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 1แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 63% ของการนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยมีสินค้าที่จะไม่ขึ้นภาษีเช่น ผลิตภัณฑ์แร่และเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้าและอากาศยานและส่วนประกอบ

 

logoline