svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

รัฐอุ้มซีพี ขยับเซ็นสัญญา 'ไฮสปีด' 25 ต.ค.

09 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งบอร์ดอีอีซีกำหนดไว้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง โดยภาครัฐให้เหตุผลว่าเป็นผลจากบอร์ด รฟท. ยื่นใบลาออกทั้งคณะ ติดตามจากรายงาน

กำหนดลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย แม้ว่าล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน จะทุบโต๊ะว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. และกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ต้องเซ็นสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ขณะที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคมนาคม คาดการณ์ว่าการลงนามสัญญาจะมีขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 หรือเลื่อนจากเดิมอีก 10 วัน 
รัฐมนตรีจากค่ายภูมิใจไทย ทั้งศักดิ์สยามและอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสูข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ชี้แจงในทิศทางเดียวกันว่า การเลื่อนเซ็นสัญญาครั้งล่าสุดนี้ เป็นผลจากบอร์ด รฟท. ซึ่งมีกุลิศ สมบัติศิริ นั่งเป็นประธาน ได้ยื่นใบลาออกทั้งคณะ จึงจำเป็นต้องรอให้มีการแต่งตั้งบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ก่อน เพราะการลงนามสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ต้องได้รับการอนุมัติจากบอร์ด โดยคาดว่าจะเสนอรายชื่อบอร์ด รฟท.ชุดใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ 
ศักดิ์สยามยังบอกว่า การลาออกของบอร์ด รฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึง เพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพิ่งประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และได้ส่งหนังสือแจ้งกลุ่มซีพีถึงกำหนดลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บอร์ด รฟท. ยื่นหนังสือลาออก โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และหากไม่มีบอร์ด รฟท. จะไม่สามารถเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีได้ 
การลาออกของบอร์ด รฟท. ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และถ้ายังจำกันได้ก่อนหน้านี้เจ้ากระทรวงคมนาคมเคยออกมาถามหาสปิริตบอร์ดในสังกัดผ่านสื่อ โดยส่งสัญญาณให้ยื่นใบลาออกหลังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง ขณะที่ประธานบอร์ด รฟท. เปิดใจในวันที่ยื่นใบลาออก ว่า โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกฯรายงานตรงต่อบอร์ดอีอีซี การไม่มีบอร์ด รฟท.จึงไม่มีผลกระทบต่อโครงการด้านรองนายกฯอนุทิน บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินล่าช้า เพราะการยืนราคาประมูลของกลุ่มซีพีที่วงเงิน 117,227 ล้านบาท จะสิ้นสุดในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ หากไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ก่อนวันที่ 7 พฤศจิกายน จึงจะถือว่ามีความล่าช้า และหากโครงการนี้ล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด จะทำให้โครงการอีอีซีได้รับผลกระทบในเรื่องของความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
ขณะที่วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ บอกอย่างไม่อ้อมค้อมว่า หนึ่งในสาเหตุที่ต้องเลื่อนกำหนดลงนามสัญญา เป็นเพราะแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ 
ที่ผ่านมา กลุ่มซีพีนำเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมาใช้เป็นเหตุผลที่ไม่ยอมลงนามสัญญา โดยใช้เวลาในการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกมาอย่างยาวนาน หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลประมูลไปตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ทั้งที่โดยทั่วไป โครงการก่อสร้างลักษณะนี้  ไม่เคยมีมาก่อนที่คู่สัญญาจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนได้ 100% ซึ่งในโครงการนี้ รฟท.การันตีว่าพร้อมส่งมอบพื้นที่ 72% ภายใน 1 ปีหลังลงนามสัญญา  
หลังจากนี้คงต้องรอดูว่ากลุ่มซีพีจะตัดสินใจลงนามสัญญาเมื่อใดในภาวะที่ดีลเงินกู้ยังไร้ข้อสรุป และหากสุดท้ายแล้วไม่สามารถลงนามสัญญาได้ภายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ภาครัฐจะตัดสินใจอย่างไร หรือจะปล่อยให้ความล่าช้าของไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่งผลกระทบจนสร้างความเสียหายต่อโครงการอีอีซี ซึ่งเป็น Project เรือธงของรัฐบาล และเป็นความหวังใหม่ของเศรษฐกิจไทย 
ทีมข่าวเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี รายงาน  

logoline