svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จับตา​คืนชีพเหมืองทองอัครา​หรือไม่​ งานวิจัยฯ​ ยันบ่อทิ้งกากแร่ที่​ 1​ รั่วจริง! ​

09 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พยาน ที่ให้การในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ก็มีหลายฝ่าย แล้วก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ยืนยันหลักฐานพบการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 ของเหมืองทองอัครารั่วไหลจริง พิสูจน์ได้ว่าเป็นที่มาของผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

18 พฤศจิกายนนี้ มีความเคลื่อนไหวสำคัญอีกครั้งหนึ่งสำหรับกรณีเหมืองแร่ทองคำอัครา รอยต่อสามจังหวัดพิจิตร, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ หลังจากถูกคำสั่งม. 44 ปิดเหมืองทองไปเมื่อต้นปี 2560 นำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายของบริษัท คิงส์เกต บริษัทแม่ ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และในวันดังกล่าวนี้เอง จะมีการไต่สวนนัดแรก

ในระหว่างการไต่สวน ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่าย'รัฐบาลไทย' หรือฝ่าย 'บริษัทคิงส์เกต' มีสิทธิ์ที่จะเจรจากันได้ทุกเมื่อ เพื่อที่จะหาข้อยุติโดยที่ไม่ต้องชดเชยชดใช้ค่าเสียหายหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แพ้

ก่อนหน้านั้นนักวิเคราะห์ระบุว่า 'รัฐบาลไทย' เสียเปรียบบริษัทคิงเกตในกรณีนี้ เนื่องจากใช้คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ แทนที่จะใช้คำสั่งปิดตามกฎหมายปกติทั่วไป ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานที่แท้จริงก็สามารถที่จะใช้กฎหมายปกติเหมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสาธารณสุข หรือกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใดฉบับหนึ่ง ในการยุติกิจการซึ่ง ม.44 สากลไม่ยอมรับในการบังคับใช้อำนาจดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม 'พยาน' ที่ให้การในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ก็มีหลายฝ่าย แล้วก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ยืนยันหลักฐานพบการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่ที่ 1 ของเหมืองทองอัครารั่วไหลจริง พิสูจน์ได้ว่าเป็นที่มาของผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเชื่อว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นหนักแน่นเพียงพอ และศาลน่าจะให้น้ำหนักกับข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้อำนาจสั่งปิดที่ไม่เป็นธรรม

แต่ถ้าหากเรามาดูท่าทีของทางด้านกระทรวงอุตสาหกรรมโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็มีการแสดงท่าทีออกมาว่าจะมีการเจรจากันเพื่อจะหาข้อสรุปบางอย่าง ซึ่งจะใช่การเดินหน้าเปิดเหมืองทองต่อหรือไม่นั้น ยังคงต้องจับตาดู แต่ถ้าหากว่าเหมือนเปิดได้ก็เป็นอันว่าข้อยุติต่างๆทางคดีระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงเกตก็จะยุติลง

เรื่องนี้ทางทางภาคประชาชนที่ติดตามมาต่อเนื่องไม่ยอมแน่ๆ ถ้าหากจะเปิดเหมือง เพราะพวกเขาก็จะหยิบเอาข้อมูลหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ว่าเหมืองส่งกระทบที่แท้จริง โดยเฉพาะงานวิจัยส่วนหนึ่งที่ได้มาจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบตรวจสอบแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่ทองคำอัครา ที่ตั้งโดยคณะทำงานร่วมจาก 4 กระทรวงเมื่อปี 2559 มาเป็นหลักฐาน ในการใช้กฎหมายปกติปิดเมืองซ้ำ

แต่มากไปกว่าความอีรุงตุงนัง ของเหมืองทองอัคราประเทศไทยยังมีการเปิดช่องเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ตามนโยบายสายแร่ทองคำที่ผ่าน 12 จังหวัด นำมาสู่ความกังวลของประชาชนนอกพื้นที่ของจังหวัดที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น จ.เพชรบูรณ์ ที่มีรายงานพบว่ามีการขอสำรวจแร่ และรวมไปถึง จังหวัดสระบุรีและลพบุรีก็มีคำขออาชญาบัตรของบริษัทใหญ่ที่จะสำรวจได้เช่นเดียวกัน

การสำรวจแร่นั้นเรายังไม่ทราบว่ามีปริมาณแร่ทองคำปรากฏในพื้นที่หรือไม่ แต่การสำรวจก็นำมาซึ่งความเป็นไปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ทำเหมืองในอนาคต

แล้วที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ ผลกระทบหลังการทำเหมืองปัจจุบันยังคงไม่เห็นการฟื้นฟูเหมืองที่ใดที่เป็นรูปธรรมได้รับการยอมรับ แม้แต่ 'เหมืองแม่เมาะ' จังหวัดลำปางที่มีการฟื้นฟูอย่างดีและเป็นโมเดลที่ถูกยกขึ้นมา ก็ยังมีข้อถกเถียงอยู่มาก ขณะที่การฟื้นฟูยังต้องใช้งบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาท

อย่างเช่น ที่เหมืองทองคำ จังหวัดเลย ซึ่งบริษัทที่ได้รับประทานบัตร ล้มละลายไปแล้ว ชาวบ้านที่นั่นแน่ใจว่าจะไม่มีการทำเหมืองในพื้นที่นี้อีก แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการฟื้นฟู ซึ่งในหมู่บ้านยังคงพบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักที่เกิดจากการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่

คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ ประเทศไทยยังคงมีความจำเป็น ที่จะต้องทำเหมืองทอง ที่ต้องใช้สารเคมีในการสกัดแร่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่ ความเสี่ยงเหล่านี้จะให้คนในพื้นที่ยอมรับได้จริงหรือ? สะท้อนความจริงใจของรัฐ มองชาวบ้านในมุมไหนมุมที่ต้องปกป้อง หรือต้องปรับตัวเปลี่ยนชีวิต เพื่อกลุ่มทุน...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV



logoline