svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คมนาคมอ้างบอร์ด รฟท. ลาออก เลื่อนเซ็นสัญญาไฮสปีด

08 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ ได้เลื่อนกำหนดลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เป็นวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จากเดิมที่กำหนดจะเซ็นสัญญาวันที่ 15 ตุลาคม หรือเลื่อนไป 10 วัน โดยคระกรรมการคัดเลือกฯจะทำหนังสือแจ้งกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม CP ต่อไป

สาเหตุที่ต้องเลื่อนลงนามสัญญา เป็นเพราะคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ  รฟท. ได้ยื่นใบลาลาออกทั้งคณะ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ก่อน เนื่องจากการลงนามสัญญายังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ รฟท. 
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ซึ่งนายกฯมีบัญชาให้รีบดำเนินการโดยเร็ว และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อคณะกรรมการ รฟท. ชุดใหม่ และจะส่งกลับไปกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเสนอครม.พิจารณาอนุมัติวันที่ 15 ตุลาคมนี้ 
การยืดระยะเวลาออกไปอีก 10 วันจะไม่ส่งผลกระทบในส่วนของการยืนราคาประมูลโครงการของภาคเอกชนเนื่องจาก RFP กำหนดยืนราคาประมูลไว้ถึงวันที่ 7 พ.ย.นี้
เรื่องการลงนามนั้น คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็บอกไปเรียบร้อยแล้ว ว่าเขาเจรจาตามกรอบ RFP ครบถ้วนแล้ว ก็รอลงนามแต่ขยายระยะเวลาไปอีก 10 วัน นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไป ตรงมาและโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้ และบอร์ดอีอีซีได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกันด้วยขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัด เพราะสำคัญกับประเทศมาก
เขากล่าวด้วยว่าในส่วนการลาออกของบอร์ด รฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และวันที่ 30 กันยายน ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเวลา 11.00น. วันที่ 1 ตุลาคม เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฎว่า บอร์ด รฟท.กลับลาออกในวันเดียวกัน จึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีบอร์ด รฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ครม.รับทราบได้
เมื่อถามว่าการแต่งตั้งบอร์ด รฟท.ใหม่จะกระทบในการเดินหน้าโครงการหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ส่งกระทบ เพราะเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการตาม RFP ในข้อ 63 ระบุชัดเจนว่า กฎหมายที่ต้องดำเนินการ นอกจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องมีกฎหมายไทยเองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายของการรถไฟ เป็นต้น
สาเหตุการลาออกของบอร์ดรฟท. ในช่วงที่จะมีการลงนามสัญญา นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามบอร์ด เพราะตนพยายามยับยั้งแล้ว
ส่วนกรณีที่ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนโครงการนี้นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนายธนินท์ แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน RFP ซึ่งในข้อ 50.1 กำหนดว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง
เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคา ดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้ว เรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้นต้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณ 72% เหลือ 28% ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวแล้วเพื่อดูแลการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุกพื้นที่
ทั้งนี้ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการรื้อย้านสาธารณูปโภคที่อยู่ในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและตน เป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุม จะได้ดูว่าส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีสาธารณูปโภคอยู่ในโครงการมีแผนการอย่างไร หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะเปิดให้มีการขยายเวลาได้ และไม่มีเบี้ยปรับ ถือเป็นหลักปกติในการปฏิบัติงานที่รับทราบร่วมกัน
โดยโครงการนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี บวกเวลาในการมอบพื้นที่ รวมเป็น 6 ปี จึงมีเวลาพอ โดยคิดว่าจะบริหารเรื่องนี้ โดยจะใช้หลักเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยบริหารในการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ ซึ่งขณะนั้นได้รับเงินจากไจก้า ก็สามารถเอามิติปัญหา 7 เรื่องของตนมาดำเนินการ จึงคิดว่าน่าโครงการจะดำเนินการได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่าในวันที่ 15 ตุลาคม จะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อขอให้พิจารณาเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการนี้ให้ที่ประชุมอาเซียนรับทราบด้วย

logoline