svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คนเท่ากัน​ จริงไหม?

06 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คำถามง่ายๆว่า คนเราเท่ากันทุกคนหรือไม่? ก็ไม่น่าเชื่อว่ายังคงเป็น คำถามในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ทุกชีวิตน่าจะมีสิ่งที่เท่าเทียมอย่างเดียว คือ เวลา หรือ ปัจจุบันขณะของจิตเกิดดับที่เท่ากัน

สิทธิ ความเท่าเทียม ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกพูดถึงเสมอในมิติของการเมือง สังคมรวมไปถึงเศรษฐกิจด้วย แต่ปัจจุบัน ความเท่าเทียมดังกล่าวหรือคำถามง่ายๆว่า "คนเราเท่ากันทุกคนหรือไม่?" ก็ไม่น่าเชื่อว่ายังคงเป็น "คำถาม" ในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

1 เสียงของคนเท่ากันหรือไม่ เป็นคำถามที่ถูกเถียงในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่าเมื่อใช้หลักการความเป็นประชาธิปไตยเข้าไปจับเพื่ออธิบายมิตินี้ก็ไม่สามารถที่จะบิดเบี้ยวไปได้ว่า 1 คน 1 เสียงเท่ากันแต่ในความเป็นจริงแล้วคนเราเท่ากันจริงหรือไม่สังคมไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติในเรื่องนี้กันอย่างไรเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากซับซ้อน หรือบางทีก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏกันให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว

นักวิชาการ นักศึกษา ที่มีอุดมการณ์และความฝันที่อยากเห็นสังคมเท่าเทียม ก็เพราะว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าต่างๆ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่ด้อยโอกาสให้ดีขึ้น และส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัฐพยายามทำอยู่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถจะเสมอภาคกันได้อย่างแท้จริง คนที่ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรัฐ ก็มีแนวความคิดและเรื่องของความเสมอภาคที่แตกต่างกันไป แตกต่างไปในทั้งเชิงของหลักการ และแตกต่างไปในทั้งเชิงของความคิด ทัศนคติ

คนทั่วไปมักสับสนคำว่า "เสมอภาค" กับ "เหมือนกัน" (sameness) ตีความว่าการรับรองความเสมอภาคของมนุษย์เท่ากับการทำให้มนุษย์ทุกคนเท่ากัน จนมักโต้แย้งว่า "ความเสมอภาคไม่มีทางเป็นไปได้" จึงควรทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าหลักการของความเสมอภาค ไม่ได้และไม่เคยเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนต้องเหมือนกันหมด เพราะมนุษย์ย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมชาติทั้งโดยชาติพันธุ์ รูปร่าง ผิวพรรณ เพศสภาพ บุคลิก ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ

แต่ความแตกต่างนั้นไม่ได้เป็นเหตุผลทำให้มนุษย์ต้องไม่เสมอภาคกัน เพราะความเสมอภาค (Equality) ตรงข้ามกับความไม่เสมอภาค (Inequality) ไม่ได้ตรงข้ามกับคำว่าความแตกต่าง (Difference) อย่างที่หลายคนทึกทัก นั่นหมายความว่า มนุษย์เราแตกต่างกันโดยธรรมชาติ แต่ก็สามารถและควรเท่าเทียมกันได้ (different but Equal)

ดังนั้นเมื่อกล่าวว่า คนเสมอภาคกัน จึงไม่ได้หมายความว่าคนเหมือนกันทุกด้านไม่ว่าจะเป็นชาติตระกูล หน้าตา ความสามารถ สติปัญญา แต่การที่บอกว่าเสมอภาคกันมีความหมายว่า มนุษย์เท่าเทียมกันทั้งในความเป็นมนุษย์ และตามกฎหมายของรัฐ (Kurian, 2011: 515) ดังที่มีวลีสำคัญที่สะท้อนความเสมอภาคคือ "Equality Before the Law" ซึ่งหมายความว่าบุคคลทุกผู้ทุกนามย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกระบวนของกฎหมายอย่างเป็นธรรม หรือความเสมอภาคกันในทางการเมืองคือ พลเมืองที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดย่อมสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในบางกรณี ที่ความเสมอภาคยึดโยงเข้ากับหลักความเป็นธรรม (Justice) จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อผู้คนที่แตกต่างกันด้วยมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยให้ความแตกต่างกันโดยธรรมชาติได้รับการแก้ไขให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น เช่น มาตรการช่วยเหลือคนด้อยโอกาส คนทุพพลภาพ เพื่อความเสมอภาคในสังคม ดังนั้น การมองอย่างฉาบฉวยว่าการเรียกร้องให้คนเท่ากันหมายถึงการเรียกร้องให้คนเหมือนกันนั้น จึงเป็นความเข้าใจผิดในประเด็นพื้นฐาน

เช่นนี้แล้ว ทุกชีวิตน่าจะมีสิ่งที่เท่าเทียมอย่างเดียว คือ เวลา หรือ ปัจจุบันขณะของจิตเกิดดับที่เท่ากัน

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #NationTV #Nation

อ้างอิง: https://th.m.wikipedia.org/wiki/ความเสมอภาคทางสังคม

logoline