svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้พิพากษายิงตัวเอง ความจริงอีกด้านของคดีความมั่นคงชายแดนใต้

05 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุการณ์ยิงตัวเองในบริเวณศาลาของ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลานั้น กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในสังคม ทั้งในและนอกโซเชียลมีเดีย จนมีกระแสยกย่องเป็นวีรบุรุษที่ผดุงความยุติธรรม โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านหนึ่งมีกระแสยกย่องผู้พิพากษาคณากร เป็นวีรบุรุษที่ผดุงความยุติธรรม โดยเฉพาะความเป็นธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น จากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่เดินทางไปเยี่ยมอาการนายคณากรที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ตั้งแต่เช้า และในช่วงบ่ายวันนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอ้างว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายคณากรมาก่อนหน้าจะยิงตัวเอง ก็จะให้สัมภาษณ์สื่อในประเด็นนี้ด้วย ทั้งยังมีการสร้างกระแสให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงรื้อคดีความมั่นคงทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวาน ตั้งแต่ไฟใต้ปะทุรุนแรงตั้งแต่ปี 2547


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เริ่มมีการเปิดข้อมูลเชิงตรวจสอบเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายคณากร ในฐานะผู้พิพากษา ว่าเคยมีการแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียเชิงสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคหนึ่งอย่างเปิดเผย ซึ่งน่าจะขัดกับจรรยาบรรณของผู้พิพากษา นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การยิงตัวเอง และเอกสารแถลงการณ์ที่ถูกเผยแพร่และขยายผลอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซงด้วย


ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน มีหลายแง่มุม "เนชั่นทีวี" สรุปมาให้สังคมได้พิจารณากันง่ายๆ และรอบด้าน

1. จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า คดีที่ผู้พิพากษาคณากรขึ้นนั่งบัลลังก์ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวานนี้ เป็นคดีความมั่นคงตามที่อ้างในแถลงการณ์หรือไม่ ถ้าใช่ เป็นแค่นัดสืบพยาน หรือเป็นนัดอ่านคำพิพากษา เพราะคดีตามที่อ้าง (คดีบุกยิงประชาชนที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา) เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนปีที่แล้ว กระบวนพิจารณาของตำรวจ อัยการ และศาล ยังไม่น่าจะถึงขั้นพิพากษาคดีได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ

ขณะที่มีข่าวจากอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า คดีที่นายคณากรขึ้นนั่งบัลลังก์เมื่อวานนี้ เป็นคดียาเสพติด ไม่ใช่คดีความมั่นคง ซึ่งความชัดเจนของเรื่องนี้ต้องรอการสอบสวนจากทางศาลยุติธรรม หรือคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ต่อไป


2. กระบวนการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคดีอาญาในศาลชั้นต้นทั่วไป จะมีองค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ร่วมกันพิจารณาและจัดทำคำพิพากษา ฉะนั้นหากคดีที่นายคณากรอ้างว่าถูกแทรกแซง มีการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชา หรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจหน้าที่เหนือตนจริง เหตุใดคดีจึงยังยกฟ้องตามที่นายคณากรอ้างในแถลงการณ์ คำพิพากษายกฟ้อง (หากมีการพิพากษาแล้วจริง) ย่อมแสดงว่า ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะอีก 1 หรือ 2 คน ย่อมเห็นด้วยกับนายคณากร ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายคณากรไม่ได้ต่อสู้เรื่่องนี้อย่างโดดเดี่ยว แต่ก็อย่างที่ต้องย้ำกันก็คือ คดีที่มีการพิจารณาบนบัลลังก์เมื่อวานนี้ ยังไม่ชัดว่าเป็นคดีใดกันแน่ และเป็นการอ่านคำพิพากษาจริงหรือไม่

3. เอกสารแถลงการณ์ของนายคณากร เป็นเอกสารที่ใช้ตัวพิมพ์ และใช้ฟอร์มเอกสารของศาล มีตราครุฑอยู่ด้านบนทุกหน้า ทำให้สังคมบางส่วนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารคำพิพากษา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่คำพิพากษา เป็นเพียงเอกสารแถลงการณ์ความเห็นส่วนตัวของนายคณากร จากจุดนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า คดีที่นายคณากรอ้างถึงว่าถูกแทรกแซง และจำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวนนั้น มีการพิพากษาแล้วหรือยัง


4. เนื้อหาบางส่วนในเอกสารแถลงการณ์ เช่น การเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมาย ไม่ให้มีการตรวจสำนวนโดยผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ ก่อนอ่านคำพิพากษานั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นระบบการตรวจสอบของศาล เพื่อให้กระบวนพิจารณาและการจัดทำคำพิพากษามีความถูกต้องเป็นธรรมมากที่สุด โดยให้ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยง โดยผู้พิพากษาอาวุโส หรือผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ ทำได้เพียงทำความเห็นแย้งกับองค์คณะเท่านั้น

สำหรับภาพรวมของการพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกระแสข่าวว่าไม่มีความเป็นธรรม และมีกระแสเรียกร้องให้รื้อคดีใหม่ทั้งหมด ตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วคดีที่นายคณากร อ้างว่าหลักฐานไม่ถึง และพิพากษายกฟ้องนั้น ไม่ใช่คดีแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สถิติคดีความมั่นคงในพื้นที่ชี้ชัดว่า ในช่วงต้นๆ ของไฟใต้ คดีที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล มีการยกฟ้องมากถึงเกือบ 80% สะท้อนว่าศาลให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย หากหลักฐานไม่ถึงจริงๆ ก็จะไม่พิพากษาลงโทษ

ข้อมูลปี 57 ศาลชั้นต้นยกฟ้องกว่า 80% และข้อมูลปี 58 ศาลพิพากษาลงโทษ 38.75% ยกฟ้อง 61.25% นี่คือตัวอย่างแต่เมื่อคดียกฟ้องเยอะ ก็มีคำถามเรื่องการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ และการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ จนมีการยกเครื่องใหม่ เน้นการใช้นิติวิทยาศาสตร์ และอัยการได้ตั้ง "สำนักงานอัยการพิเศษ" ขึ้นมาพิจารณาคดีความมั่นคงเป็นการเฉพาะ มีการกลั่นกรองหลักฐานดีขึ้น ทำให้คดีที่ "หลักฐานไม่ถึง" จะสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ชั้นอัยการ เพื่อไมให้ผู้ต้องหาต้องติดคุกยาวระหว่างรอคำพิพากษา แต่คดีที่หลักฐานชัดเจนจริงๆ ก็จะฟ้องไป สุดท้ายในปีหลังๆ สถิติคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีคดีที่ศาลลงโทษสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่า 50-60% เพราะสำนวนมีความรัดกุมมากกว่าเดิม


ทั้งหมดนี้คือข้อมูลอีกด้านหนึ่งของคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ "เนชั่นทีวี" รวบรวมมา เพื่อให้สังคมช่วยกันพิจารณา

logoline