svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

จับตา "ลุงตู่" ฝ่าด่านงบ'63

03 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปที่สถานการณ์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร..

ตามกำหนดการในวันที่ 17-18 ต.ค.จะมีการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียดและเรียกส่วนราชการมาชี้แจงพร้อมกับปรับลดงบประมาณบางรายการที่ไม่จำเป็นออกไป
ทั้งนี้ ตามปฏิทินงบประมาณที่สำนักงบประมาณจัดทำให้กับคณะรัฐมนตรีนั้นวางลำดับการทำงานภายหลังสภาฯรับหลักการวาระที่ 1 ไว้ว่า วันที่ 8-9 ม.ค. 2563 สภาฯจะพิจารณาในวาระที่ 2 และเห็นชอบในวาระที่ 3 จากนั้นวันที่ 20 ม.ค.2563 วุฒิสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบต่อไป
การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2563 ในครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์พลังทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
ที่ผ่านมาในสมัยประชุมสามัญครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านไป รัฐบาลได้เจอกับการลองของและพลาดท่าต่อฝ่ายค้านมาแล้วถึงสองครั้ง อันมีสาเหตุมาจากการโหวตแพ้ฝ่ายค้านในระหว่างการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ
แม้รัฐบาลจะพยายามอ้างว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เป็นการโหวตแพ้ เนื่องจากไม่ใช่การพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล แต่สำหรับในมิติทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้รัฐบาลถูกลูบคมอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็เอาคืนฝ่ายค้านอย่างทันควันเช่นเดียวกัน ภายหลังส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลผนึกกำลังกันโหวตหักฝ่ายค้าน จนไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนะเกี่ยวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ตามญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอสภาฯได้เป็นผลสำเร็จ
ดังนั้น เท่ากับว่าที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างเสมอกันมาในยกแรก คงต้องมาดูกันว่ายกที่สองที่เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณนั้นใครจะบอบช้ำมากกว่ากัน
พลิกดูสถานการณ์ทางการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาล แม้ในกลุ่มพรรครัฐบาลที่เป็นพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา จะยังคงความเป็นเอกภาพได้พอสมควร แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคการเมืองขนาด ค่อนข้างง่อนแง่นพอสมควร ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ลงรอยกันในเรื่องการเกลี่ยตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ 35 คณะ ซึ่งพรรคเล็กไม่ได้ตำแหน่งประธานกมธ. ถึงขั้นที่พรรคประชาธรรมประกาศขอถอนตัวและเป็นฝ่ายค้านอิสระ
เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลภายใต้การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณในวาระที่ 1 นี้ ถึงแม้จะเป็นจุดเริ่มต้น แต่หากบริหารเสียงและเกมในสภาฯไม่ดี รัฐบาลก็อาจเจอน๊อคตั้งแต่ยกแรกได้เหมือนกัน
กล่าวคือ ร่างกฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายการเงิน และยังเป็นกฎหมายสำคัญในทางการเมืองและกฎหมาย เพราะตามหลักกฎหมายแล้ว การที่รัฐบาลจะขอใช้เงินที่เป็นภาษีของประชาชน มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาฯซึ่งมีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชน โดยหากสภาฯไม่รับหลักการในร่างกฎหมายงบประมาณ ย่อมเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาฯและประชาชนพร้อมกันไปในตัว
ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดว่าหากรัฐบาลเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาฯและสภาฯไม่รับหลักการแล้วจะมีผลอย่างไร แต่ด้วยหลักการที่คณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ความรับผิดชอบร่วมกันต่อกันต่อสภาฯ ตามมาตรา 164 ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแสดงสปิริตด้วยการลาออกหรือยุบสภาฯเพื่อขอความไว้วางใจจากฝ่ายนิติบัญญัติใหม่
จากสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำที่เกิดขึ้น หากรัฐบาลก้าวพลาดแม้แต่นิดเดียว อาจต้องแพ้ทั้งกระดานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ ฝ่ายค้าน ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งหนึ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสียงในสภาฯในลักษณะหายใจรดต้นคอรัฐบาล มิหนำซ้ำความเป็นเอกภาพของฝ่ายค้านที่ดูเหมือนจะมีปัญหาก็ได้รับการแก้ไขไปในระดับที่น่าพอใจแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนไปหลุดปากพูดถึงเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ จนทำให้เกิดการกินแหนงแคลงใจกันมารอบหนึ่ง
สำหรับการอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณของฝ่ายค้านในครั้งนี้ ถ้าเรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรจะเสียก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะหากรัฐบาลผ่านวาระที่ 1 ไปได้ ก็ต้องมาเจอกับฝ่ายค้านในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 หรือ ถ้ารัฐบาลจะตกม้าตายพลาดท่าตั้งแต่ ก็ไม่ได้มีผลให้ฝ่ายค้านพลิกขั้วมาเป็นรัฐบาลได้แต่อย่างใด เนื่องจาการโหวตเลือกนายกฯยังต้องใช้เสียงของวุฒิสภาด้วย
ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนของฝ่ายค้านต่อร่างกฎหมายงบประมาณจะเน้นไปที่การอภิปรายเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากกว่า โดยเฉพาะความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาปากท้อง โดยพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการใช้งบประมาณไปกับกองทัพแทนการส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและสวัสดิการให้กับประชาชน
ถึงที่สุดแล้ว การอภิปรายงบประมาณในวาระที่ 1 ที่จะมีขึ้นกลางเดือนนี้ อาจเป็นช่วงเวลาของการชี้ชะตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่าจะได้ไปต่อหรือต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว

logoline