svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กกร.หั่นจีดีพีไทยโตเหลือ2.7-3%

02 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กกร.ปรับลดคาดการณ์จีดีพีประเทศเหลือโต 2.7-3.0% ส่วนส่งออกติดลบ 2% ถึง 0% เหตุเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภาวะอ่อนแรงจากสงครามการค้ากระทบภาคส่งออก ด้านมาตรการชิมช้อปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.1-0.2%


               นายกลินท์สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3  สถาบัน หรือกกร. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี2562 ลงมาเป็น 2.7-3.0% จากเดิมคาดเติบโต 2.9-3.3% ส่วนการส่งออกติดลบ 2% ถึง0% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ1% ถึงขยายตัว1%


ทั้งนี้ เนื่องจากเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมบ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกโดยมีปัจจัยถ่วงหลักจากความเสี่ยงในภาคต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแข็งค่าของเงินบาทฉุดให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้างทั้งในรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลักกระทบต่อภาคการผลิต


ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนภายในประเทศก็แผ่วตัวลงทั้งการบริโภคและการลงทุนมีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนและแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการชิม ช้อป ใช้,มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นต้นแต่คาดว่าแรงบวกจะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง


"ทางกกร.คาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทายโดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ นอกจากนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควรมีการเสนอราคาเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินท้องถิ่น"นายกลินท์ กล่าว


ส่วนผลกระทบจากภัยน้ำท่วม คาดว่าจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ  20,000 25,000ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็จะมีผลกระทบจากความเสียหายของบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร โดยจังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบ40 ปี จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพื่อลดภาระและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว ดังนี้


1.ขอให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นงดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ทุกชนิด อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย เป็นระยะเวลา 1ปี แก่ผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2.ขอให้ภาครัฐพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคารสำหรับ SME ที่ประสบอุทกภัยที่ยังมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงิน 3.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการSME ให้มีเงินทุนหมุนเวียน ตลอดจนซ่อมแซมฟื้นฟูสถานประกอบการและเครื่อจักรโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่า นาน 2 ปี


ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการชิม ช้อป ใช้ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีการลงทะเบียนเต็ม 1ล้านคนต่อวันอย่างรวดเร็ว และยังมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการจำนวนมากส่งผลให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จภาคเอกชนยินดีช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ชิม ช้อป ใช้ซึ่งคาดว่าจะโดยมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 20,000 30,000ล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2%

logoline