svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กมธ.ดีอี ดันสมาร์ทซิตี้

01 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กัลยา" เล็ง ตั้งอนุกมธ.ดีอี ติดตามงาน "สมาร์ทซิตี้-สมาร์ทเซฟตี้" "เศรษฐพงค์" ลุยตรวจสัญญาณมือถือ ชี้ เป็นส่วนสำคัญให้สมาร์ทซิตี้มีประสิทธิภาพ พร้อม เสริมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะทางเรือ มั่นใจ เพิ่มจำนวนนักเที่ยวได้ หลัง เหตุเรือฟีนิกส์ล่มทำนักท่องเที่ยวลด พร้อม ช่วยประสานแก้ปัญหาติดตั้งcctv จากซื้อเป็นเช่าแทน

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกมธ.ดีอี นำโดยน.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการฯ และคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นวันที่สอง โดยเป็นการติดตาม ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (CAT) จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ โดยการลงพื้นท่ีครั้งนี้เป็นการติดตามการจัดทำระบบรักษาความปลอดภัย การจัดทำสมาร์ท ซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี Iot และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

กมธ.ดีอี ดันสมาร์ทซิตี้


จากนั้นนางสาวกัลยา ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนอื่นตนต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการดีอี ที่ได้ลงพื้นที่มาติดตามตรวจสอบงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ เราให้เห็นความพยายามของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ร่วมมือกันพัฒนาให้เมืองภูเก็ตเป็นต้นแบบของสมาร์ท ซิตี้ เมืองอัจฉริยะ การให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากท่องเที่ยวกลับมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุเรือฟินิกส์ที่มีผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวจีนล่มทำให้มีผู้เสียงชีวิตจำนวนมาก กมธ.ดีอี ยืนยันว่าจะนำข้อมูลที่ได้กลับไปประมวลและติดตามการจัดทำสมาร์ทซิตี้อย่างใกล้ชิด


ด้านพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า วันนี้เราได้นำรถตรวจสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้าไปตรวจวัดสัญญาณในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ทราบความแรง คุณภาพ และเสถียรภาพของสัญญาณ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การจัดทำ Smart city หรือเมืองอัจฉริยะ และ Smart safety หรือเมืองแห่งความปลอดภัยอัจฉริยะเกิดขึ้นได้จริง และมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งบริษัท CAT และสำนักงานกสทช. สำหรับสมาร์ทซิตี้ ของจังหวัดภูเก็ตนั้น ถือเป็นต้นแบบที่จะนำไปปรับใช้กับจังหวัดอื่นๆ โดยต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมของจังหวัดนั้น ๆ เช่น จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่โดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาจะต้องเน้นในเรื่องการอำนวยความสะดวก สบาย โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุเรือนักท่องเที่ยวจีนล่ม ทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น และกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในเรื่องการรักษาความปลอดภัยทางเรือ จึงเป็นสิ่งแรกๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจากข้อมูลที่จังหวัดภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวที่ลงเรือท่องเที่ยวในทะเลกว่า 5 หมื่นคนต่อวัน โดยการใช้เทคโนโลยี Iot จะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้ เพราะเราสามารถที่จะเช็คสภาพอากาศเฉพาะหน้าก่อนออกเรือได้ เช็คได้ว่าเรืออยู่ตรงไหน นักท่องเที่ยวที่ขึ้นเรือเป็นใคร หน้าตาเป็นอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะมีการบันทึกไว้หมด เป็นการป้องกันไม่ให้มีการบรรทุกนักเที่ยวเกิดจำนวนที่จำกัด รวมถึงการแจ้งเตือนพายุ การแจ้งเตือนสินามิ ซึ่งมีสถานีสามารถแจ้งเตือนได้ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ทั้งหมดทำให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ระบบความปลอดภัยในการเดินทาง จะมีการดำเนินการทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ระบบกล้อง cctv อัจฉริยะ ที่จะครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด

กมธ.ดีอี ดันสมาร์ทซิตี้

อย่างไรก็ตาม จากที่กมธ.ได้รับฟังรายงานสรุปการดำเนินการสมาร์ท ซิตี้ ของจังหวัดภูเก็ต พบปัญหาในเรื่องการติดตั้งกล้อง cctv ที่ยังไม่เป็นเอกภาพมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง มีลักษณะต่างคนต่างทำ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาที่ได้รับทราบมา คือ จังหวัดต้องการให้การติดตั้งกล้องจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบเช่า แทนการซื้อ ผ่านการเห็นชอบมีการทำ MOU กับชาวภูเก็ต เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการจัดซื้อ หรือ อี-บิดดิ้ง โดยได้ผู้รับจ้างที่ราคาถูกแล้วประสบปัญหาผู้รับเหมาะทิ้งงาน ทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง แต่การเช่านั้นจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ รวมทั้งการรักษาซ่อมบำรุง ที่ไม่ต้องรอเรื่องการอนุมัติงบประมาณ เพราะบริษัทที่ให้เช่าจะดำเนินการซ่อมบำรุงได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา เขาจึงอยากให้กมธ. ช่วยผลักดันแนวทางแก้ปัญหานี้ ให้ไปถึงผู้กำหนดนโยบายด้วย ซึ่งทางกมธ. ได้รับทราบปัญหา และยินดีที่จะช่วยผลักดันโดยเฉพาะในด้านนโยบาย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

"ผมเชื่อมั่นว่าหากเรามีโครงสร้างด้านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ดีมีประสิทธิภาพ จะทำให้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำให้เกิดสมาร์ท ซิตี้, สมาร์ท เซฟตี้ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้จังหวัดภูเก็ตได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของประชาชนในพื้นที่ ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นได้" รองประธานกมธ.ดีอี กล่าว

กมธ.ดีอี ดันสมาร์ทซิตี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อกมธ.ดีอี ให้ความสำคัญกับการจัดทำสมาร์ท ซิตี้ สมาร์ท เซฟตี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาติดตามการดำเนินงานหรือไม่อย่าไร นางสาวกัลยา กล่าวว่า แน่นอนว่าเรามีแผนที่จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ขึ้นมาติดตามการดำเนินงานสมาร์ท ซิตี้ สมาร์ท เซฟตี้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้นคณะอนุกรรมาธิการ จึงมีส่วนในการรวบรวมข้อมูล และสามารถจัดทำแผนที่เหมาะสมกับจังหวัดต่างๆได้ อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยเร่งรัด ช่วยกระตุ้น ให้สมาร์ท ซิตี้ และสมาร์ท เซฟตี้ เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบได้โดยเร็ว

logoline