svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

11 กลุ่มเสี่ยงมะเร็งช่องปาก

29 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มะเร็งช่องปากถึงจะไม่ใช่มะเร็งที่ติดลำดับต้นๆ ของมะเร็งในประเทศไทย แต่ก็มีข้อน่ากังวลว่า เป็นแล้วหายยาก พบว่าอัตราการรอดชีวิตตํ่ากว่าร้อยละ 30 ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ควรตรวจโรคนี้ปีละครั้ง หากพบรอยขาว รอยแดงในช่องปาก ควรรีบไปพบแพทย์

มะเร็งช่องปาก เป็นเนื้อร้ายที่เกิดและพัฒนาขึ้นในส่วนใดก็ตามที่อยู่ในช่องปาก โดยเซลล์มะเร็งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่บริเวณริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือพื้นปาก ในกรณีที่พบได้น้อย เซลล์มะเร็งยังสามารถเกิดขึ้นได้ที่ทอนซิลด้านหลังช่องปาก ซึ่งเป็นต่อมผลิตน้ำลาย รวมถึงในบริเวณช่องคอที่เชื่อมต่อระหว่างปากกับหลอดลมหรือคอหอย ทั้งนี้มะเร็งช่องปากคือหนึ่งในกลุ่มมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ ซึ่งการรักษามะเร็งช่องปากอาจคล้ายกับการรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งช่องปาก

1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพศชายพบมากกว่าเพศหญิง

2.ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคนี้คือการสูบบุหรี่ รองลงไปคือดื่มเหล้า โดยพบว่าผู้ที่ทั้งสูบบุหรี่และดื่มเหล้าด้วย จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มเป็น 15 เท่า

3. การกินหมาก เคี้ยวยาสูบ อมเมี่ยง เหน็บยาฉุน เป็นประจำ มีการศึกษาพบว่าในผลหมากมีสารก่อมะเร็ง เมื่อเคี้ยวร่วมกับยาเส้นที่มีสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับบุหรี่ จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากเพิ่มขึ้นไปอีก

4. ได้รับแสงแดดโดยตรงบริเวณใบหน้าเป็นประจำ หรือริมฝีปากโดนแดดแรงๆ เป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ริมฝีปาก

5. มีอนามัยช่องปากไม่ดี พบว่าคนที่เป็นโรคนี้ กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ที่ดูแลความสะอาดในช่องปากไม่ดี

6. ใส่ฟันปลอมที่ชำ รุด ฟันปลอมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

7. พบว่าการกินผักและผลไม้น้อยเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง

8. มีประวัติติดเชื้อไวรัสเอชพีวี : ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก (oral sex) จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งนำไปสู่การเป็นมะเร็งช่องปากได้

9. มีการระคายเคืองในช่องปากเรื้อรังจากฟัน หรือวัสดุอุดฟันที่แตกบิ่นจนเกิดความคม ทำให้ระคายเคืองเนื้อเยื่อในช่องปาก

10. มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งบริเวณทางเดินอาหารส่วนบน

11. มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การป้องกันมะเร็งช่องปาก
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงวิธีการป้องกันมะเร็งได้อย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยสามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากได้ โดยแนวทางการป้องกันอาจประกอบไปด้วยดังนี้
หากจำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มแค่พอควร เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจสร้างความระคายเคืองให้กับเซลล์ในช่องปาก ทำให้ง่ายต่อการกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
ลดหรือเลิกการใช้ยาสูบ การบริโภคยาสูบไม่ว่าจะโดยการสูบหรือเคี้ยว เป็นพฤติกรรมอันตรายที่อาจทำให้เซลล์ในช่องปากเกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาได้
รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลาย โดยผู้ป่วยควรเลือกผลไม้หรือผักที่อุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก
หมั่นเข้าพบทันตแพทย์เพื่อการตรวจสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอ
พยายามหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในบริเวณริมฝีปาก ด้วยการทาครีมกันแดดสำหรับริมฝีปากหรือการสวมหมวกปีกกว้างที่สามารถบดบังแสงแดดไม่ให้กระทบกับใบหน้าโดยตรง
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน-https://www.pobpad.com

logoline