svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ ทำไม "ป่าแก่งกระจาน" ไม่ได้ไปต่อในเวทีมรดกโลก

28 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิทธิมนุษยชน คือหลักสากลที่รับรองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลโดยไม่เลือกสีผิว เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ ความเชื่อหรืออื่นๆ และเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเวทีระดับนานาชาติอย่างคณะกรรมการมรดกโลก

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช ได้ขอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน พิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แต่ถูกท้วงติงและตีกลับมา 3 ข้อ 1) ให้รัฐดำเนินการเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา 2) ให้ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องขอบเขตพื้นที่ที่ลดลงว่ายังอยู่ภายใต้ข้อกำหนดระเบียบที่ 10 ว่าด้วยเรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ และ 3) ห่วงกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชุมชนชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ ให้ไทยไปทำเอกสารและส่งกลับมาพิจารณาใหม่ภายใน 3 ปี ซึ่งการยื่นขอเป็นมรดกโลกสำหรับผืนป่าแก่งกระจานนี้ไทยได้เคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง

เปิดข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ ทำไม "ป่าแก่งกระจาน" ไม่ได้ไปต่อในเวทีมรดกโลก


ซึ่งข้อท้วงติงนี้ชัดเจนจากกรณีการบังคับให้สูญหายของ บิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิชาวกะเหรี่ยง ซึ่งภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้แถลงยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วจากการถูกฆ่า เผา แล้วนำมาถ่วงน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนั่น...คือหลักฐานที่ยืนยันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในประเทศไทยมีอยู่จริง

เปิดข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ ทำไม "ป่าแก่งกระจาน" ไม่ได้ไปต่อในเวทีมรดกโลก


มรดกโลก มรดกใคร
พื้นที่ธรรมชาติที่กรมอุทยานฯเสนอเป็นมรดกโลกก็คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, อุทยานแห่งชาติกุยบุรี รวม 4,800 ตารางกิโลเมตร เสนอในหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามให้สูญพันธุ์ไป เช่น เสือ จระเข้ ช้าง ฯลฯ เมื่อถูกคณะกรรมการมรดกโลกทักท้วงจึงได้มีการแก้ไข
"ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้ปรับปรุงกฎหมายหลัก 2 พ.ร.บ. คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จากเดิมที่มองว่าผู้คนอยู่ในป่าอนุรักษ์ผิด ตอนนี้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่คุ้มครองทั้งอุทยานฯและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ฯได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย ประกาศใช้ไปเมื่อ พ.ค.2562 จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้" สุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของกฎหมาย ในงานเสวนาเรื่อง ปัญหาสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งในมุมมองของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม วุฒิ บุญเลิศ แสดงความเห็นว่า
"อันดับแรกต้องขอขอบคุณสิงสาราสัตว์และบรรดามนุษย์ในกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในแก่งกระจานที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้ผืนป่าตรงนี้เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของโลก คนกะเหรี่ยงสมัยก่อนแต่งงานกัน เขาก็เชื่อและไว้วางใจกัน จนเกิดลูกเกิดหลาน ไม่ได้จดทะเบียน ถ้าไว้วางใจ มันเป็นพันธะทางใจ ปัญหาของผืนป่าแก่งกระจานคือ เราไปมองเรื่องทะเบียนเป็นสำคัญ คือการประกาศ ผมมองว่ามันเป็นอยู่แล้วล่ะ ถึงประกาศหรือไม่ประกาศมันก็อยู่ตรงนี้ล่ะ เพียงแต่ว่าเราต้องการศักดิ์ศรี หน้าตา เครดิต เราเขียนหนังสือ ส่งอีเมล ส่งทางอื่นเยอะแยะให้ประชาคมโลกรู้ว่าในผืนป่ากลุ่มนี้ มีสังคมพืช สังคมสัตว์
ที่ผ่านมาไม่มีสังคมมนุษย์อยู่ในเรื่องราวเรื่องเล่าในเอกสารของทางราชการ เอกสารนี้ไม่ได้พูดถึงสังคมคน พูดถึงแต่สังคมสัตว์และพืช เอกสารราชการมองไม่เห็นคน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ใช่เขตรักษาพันธุ์คน วิธีการมองเหล่านี้ทำให้มีการจัดการภายใต้บริบทอย่างนั้น ไม่ได้มองสังคมของมนุษย์ที่อยู่ในพื้นที่ ยกตัวอย่าง แก่งกระจาน ในเอกสารไม่ได้บอกว่ามี หรือพูดไม่กี่บรรทัด แล้วบอกว่าคนเหล่านี้เป็น กะลา มาจากพม่า หรือใช้คำเรียกอื่นๆ นี่คือปัญหาแนวคิด ความเข้าใจพื้นที่และผู้คน ที่เป็นอุปสรรคและปัญหา นำมาซึ่งทัศนะและความคิดต่างๆ แต่นานาชาติมองและให้ความสำคัญกับมิติของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงตีกลับมา"
วุฒิ ชี้ว่าเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด แทนที่จะแก้ไขให้ตรงจุด กลับติดกระดุมเสื้่อผิดต่อไปอีกถึง 3 ครั้ง แทนที่จะดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นเพื่อให้เขารักษาวัฒนธรรมรักษาป่า กลับพยายามบีบขับเขาออกไป ทำให้ป่าแก่งกระจานพลาดจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปอย่างน่าเสียดาย
"ปัญหาเกิดจากการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ การถูกกระทำในพื้นที่มันก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อบรรยากาศมันไม่เอื้อ ก็ต้องหาคนที่ทั้งสองฝ่ายไว้เนื้อเชื่อใจ มี 3 ประเด็น หนึ่ง กลับมาใส่เสื้อกะเหรี่ยง มองดูที่วิถีวัฒนธรรมและความเชื่อของคนกะเหรี่ยง เสื้อกะเหรี่ยงทอด้วยผ้าฝ้าย ทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ ปักด้วยลูกเดือยที่เกิดจากไร่หมุนเวียน สวมเสื้่อกะเหรี่ยงปุ๊บคุณจะอยู่กับธรรมชาติแล้วจะใกล้ชิดกับมัน ไม่มีกระดุม ไม่ต้องติดกระดุมผิด 2-3 ครั้ง หน้าหลังเหมือนกัน ไม่มีกระเป๋าที่จะใส่มีดทิ่มแทงหรืออาวุธไว้เข่นฆ่ากัน ถ้ามันยากสำหรับการติดกระดุมหลายเม็ด ลองมาใส่เสื้อกะเหรี่ยงดู เมื่อเรามองคน ให้ความสำคัญกับคน มองไปถึงวัฒนธรรมประเพณี ที่ผ่านมาข้อเสนอยังขาดสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชุมชนดั้งเดิม ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม
สอง เรื่องไร่หมุนเวียน ที่ผ่านมาในการรับรู้การมีส่วนร่วมดูเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ประชาพิจารณ์ มันต้องเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง ช้าอีกสักนิดหนึ่ง รับประทานอาหารทีละคำ กินน้ำทีละอึก ค่อยๆ เดิน สะสมชัยชนะร่วมกัน คุณไม่แพ้ ผมไม่แพ้ ทั้งประเทศได้ร่วมกัน อีกประเด็นหนึ่ง สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่นิ่ง เรื่องแนวเขตก็ดี เรื่องพื้นที่ที่มันยังไม่ชัด ความขัดแย้ง การจับกุม ด้วยบรรยากาศแบบนี้ผมว่าต้องหาคนมาช่วยกันคุย ผมใส่เสื้อไม่มีกระเป๋าไม่มีหน้าหลัง คิดยังไงก็พูดอย่างนั้นครับ" ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงฯ กล่าวทิ้งท้าย

เปิดข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ ทำไม "ป่าแก่งกระจาน" ไม่ได้ไปต่อในเวทีมรดกโลก


วิถีกะเหรี่ยง วิถีคนกับป่า
วิถีของคนกะเหรี่ยงมีป่าเป็นบ้าน มีไร่หมุนเวียนเป็นความมั่นคงทางอาหาร ทว่าการรับรู้ของคนทั่วไปยังเข้าใจว่า "ชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย" ทั้งที่มีการศึกษาหลายชิ้นอธิบายได้ว่าไร่หมุนเวียนคือภูมิปัญญาในการรักษาป่า และความจริงข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่ในความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่
"การมีผืนป่าที่สมบูรณ์ก่อให้เกิดวัฒนธรรม ที่คนอยู่ร่วมกับป่าด้วยมิติทางจิตวิญญาณ ทำให้ผืนป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ สหประชาชาติให้ความสำคัญกับสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองมาตั้งแต่ปี 1992 ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสากลว่าด้วยชนเผ่าพื้่นเมือง นับถึงบัดนี้ 26 ปีแล้ว ระบบไร่ข้าวหมุนเวียน เป็นวัฒนธรรมพิเศษ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชอาหาร พืชสมุนไพร เป็นความมั่นคงทางอาหาร ทางพลังงาน เป็นความมั่นคงในปัจจัย 4 ทั้งหมดเกิดจากระบบไร่หมุนเวียน
ปู่คออี้เน้นเสมอว่า เราไม่ควรเปิดหน้าดิน ระบบทำไร่หมุนเวียนไม่ได้เปิดหน้าดินให้โล้นเลี่ยนเตียนโล่ง แต่เป็นการตัดต้นไม้สูงกว่าเอว เอาจอบเล็กๆ กระทุ้งลงไปในดินแล้วผู้หญิงก็เดินตามผู้ชาย เอาเมล็ดข้าวและพันธุ์ผักสมุนไพร(ในไร่หมุนเวียนมีถึง120ชนิด)หยอดลงไป วัฒนธรรมข้าวจึงมีทั้งมิติทางจิตวิญญาณสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาที่ว่ามนุษย์ต้องเคารพกฎแห่งธรรมชาติ เข้าใจและปฏิบัติตามกฎแห่งธรรมชาติ
ปู่คออี้พูดว่า การเปิดหน้าดินทำให้แผ่นดินร้อน หญ้าขึ้นมาก จึงต้องใช้ยาฆ่าหญ้า ลูกหลานของปู่ควรจะสืบทอดเรื่องไร่หมุนเวียน เพราะเป็นระบบที่เคารพธรรมชาติ ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร
มีการศึกษาระบบไร่หมุนเวียนไว้มากมาย สถาบันการศึกษาหลายแห่งระดับเอเชียแปซิฟิกยกย่องว่าเป็นระบบที่ฟื้นฟูระบบนิเวศได้ดีที่สุด ไม่ก่อให้เกิดการชะล้างพังทะลายของหน้าดิน ในขณะที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการเปิดผืนป่าให้เหลือแต่หน้าดินและใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น" เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้ทำงานกับชนพื้นเมืองมากว่า 40 ปี เล่าถึงวิถีที่เกื้อกูลกับธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง ก่อนจะแสดงความกังวลกับการที่รัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับคำว่า ชนพื้นเมือง
"สภาความมั่นคงแห่งชาติให้ใช้คำว่า ชาติพันธุ์ แทน แต่ไม่ว่าจะใช้คำไหน คำจำกัดความก็คือ บุคคลที่มีภูมิปัญญาที่อยู่กับธรรมชาติด้วยมิติที่เหนือธรรมชาติ มีความเคารพธรรมชาติทางจิตวิญญาณเหนือกฎหมายใดๆการรักษาป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าทางบกหรือทางทะเล เป็นอยู่ได้อย่างยั่งยืนและสมดุล ด้วยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ด้วยการบังคับทางกฎหมาย เราควรจะใช้หลักสิทธิมนุษยชนที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติควบคู่ไปกับกฎหมายและลดหย่อนการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดแต่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรม ซึ่งทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้ธรรมชาติยังอยู่คู่โลก คู่มนุษย์และสรรพสัตว์ได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง"

ใครทำลาย ใครรักษา
ท่ามกลางวิกฤติสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน พื้นที่สีเขียวทั่วโลกอยู่ในสภาพเปราะบาง ขณะเดียวกันพบว่าผืนป่าที่่ยังหลงเหลือส่วนใหญ่มักมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่ ทำให้พวกเขามักถูกแย่งชิงที่ดินหรือรุกรานไล่รื้อออกจากพื้นที่ของตัวเองด้วยข้อกล่าวหาเดิมๆ ว่า ทำลายป่า
"โลกใบนี้มีประชากร 4500 กว่าล้านคน มีคนต้องพึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์จากป่า 1,000 ล้านคน และ 1 ใน 4 นั้นคือชนพื้นเมือง 300 กว่าล้านคน ประชากรพื้นเมืองที่เขาสำรวจทั่วโลก 4-5 เปอร์เซ็นต์ เป็นบุคคลที่ถูกพิสูจน์ว่าปกป้องป่าของโลกไว้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ป่าไม้ไม่ได้ถูกปกป้องด้วยเครื่องมือ เทคโนโลยี กลไกอำนาจ หรือผู้เชี่ยวชาญอะไรทั้งหลาย แต่เป็นวิถีชนพื้นเมือง นี่เป็นบทสรุปจาก UN หรือ FAO ตรงกับที่ผมเคยฟังจาก พะตีจอนิ โอโดเชา หรือหลายๆ ท่าน ที่เป็นผู้รู้ของคนกะเหรี่ยง
ถ้าดูในแผนที่ ป่าที่เหลืออยู่จะเป็นป่าที่มีชุมชนท้องถิ่น มีชนพื้นเมืองดำรงชีพอยู่ ปี ค.ศ. 1980 กว่าๆ สภาป่าไม้โลกได้ข้อสรุปตรงกันว่า ต้องจัดการป่าโดยมีวิถีชุมชนอยู่ในนั้นด้วย แนวคิดเรื่องป่าไม้สังคม ป่าไม้ในเชิงวัฒนธรรม ป่าชุมชน ต่างถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงนั้น ประเทศไทยก็มีข้อตกลงในนโยบายเหล่านี้ ปี 2535 เรามีข้อตกลงเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกที่บราซิล แต่เป็นปีที่กะเหรี่ยงกำลังจะถูกอพยพจากทุ่งใหญ่ฯ ปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญพูดถึงสิทธิชุมชน เดือนมิถุนาปี 2541 มีมติละเมิดสิทธิชุมชนในป่าอนุรักษ์ ภาพถ่ายทางอากาศกลายเป็นเครื่องมือในการปิดล้อมขีดวงให้กับพี่น้องกะเหรี่ยง สถานการณ์ป่าไม้ไทยลดลงอย่างรวดเร็ว ความขัดแย้งไม่เปลี่ยน ป่าไม้ยังถูกทำลาย นี่คือโศกนาฏกรรม
FAO กล่าวว่าการจัดการป่าที่ยั่งยืนจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมที่มีความลุ่มลึก มองป่าเป็นทรัพยากรของการดำรงชีพ เป็นวิถีของจิตวิญญาณ องค์กรวิชาการระดับโลก WRI สถาบันทรัพยากรโลก บอกว่า หนทางเดียวที่จะรักษาป่าและฟื้นฟูให้มีความหลากหลายทางนิเวศได้ คือการให้ความเป็นเจ้าของกับชนพื้นเมือง สิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์จากระบบทรัพยากรที่มั่นคงตามวิถีของชุมชน" กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เน้นย้ำถึงความสำคัญของชนพื้นเมืองกับการดูแลรักษาป่า
ดังนั้น หนทางสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนจึงไม่ใช่การผลักดันกลุ่มชาติพันธุ์-ชนพื้นเมืองออกจากพื้นที่ป่า แต่เป็นการแสวงหาทางออกร่วมกันในการรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นการปูทางสู่ความเป็นไปได้ในการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานและพื้นที่เชื่อมโยงสู่การเป็นมรดกโลกในอนาคตอันใกล้

logoline