svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงมีแนวโน้ม​ เป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้น! และกัญชา​คือทางออก?

28 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผมคิดดูแล้วก็น่าจะเป็นความจริง เพราะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผมมีประสบการณ์ตรงกับการใช้ 'น้ำมันกัญชา' เพื่อเยียวยาจิตใจ หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะอกหักและถูกทิ้ง ผมยอมรับว่าใช้ 'น้ำมันกัญชา' หยดใต้ลิ้นเพื่อให้นอนหลับ

โรคซึมเศร้าในอดีต สำหรับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็น หรือมีก็มีน้อยมาก แต่กับวัยรุ่นอาการเหล่านี้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากกว่า ว่ากันว่ามีที่มามาจากการหมกมุ่นกับ Social Media มากจนเกินไปจนทำให้ไม่มีเวลาว่างทบทวนหรืออยู่กับตัวเอง เพราะมีสิ่งเร้าที่ได้เห็นในหน้าจอโทรศัพท์อย่างเสมอ ตอกย้ำอาการเศร้าธรรมดาธรรมดาให้กลายเป็นอาการทางจิตถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในที่สุด

เราทุกคนย่อมเคยผ่านวิกฤตในชีวิต วิกฤตที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจ และกลายเป็นบาดแผลบาดลึก

เปรียบเทียบง่ายๆ จากบาด 'แผลสด' คือความเจ็บปวดเริ่มแรก กลายเป็นความทรงจำที่ยังหลงเหลือเป็น 'รอยแผลเป็น' อยู่ในใจ เราจะเยียวยาตัวเองให้หายอย่างไร บาดแผลตามร่างกายยังมีวิธีการรักษา ให้หายเป็นปกติได้ฉันใด ใจของคนก็เช่นเดียวกัน วันเวลาจะช่วยเยียวยา ให้รอยบาดแผลเป็นในใจลบเลือนและหายไปได้ฉันนั้น

แต่สำหรับบางคนก็ไม่เป็นเช่นนั้นเหมือนกับการที่เอามือไปสะกิด'แผลที่ตกสะเก็ด' จากแผลแห้งก็กลายเป็น 'แผลสด' เปรียบเหมือนกับการคิดกับเรื่องเดิมๆซ้ำไปซ้ำมา ทำร้ายจิตใจจนกลายเป็นการเศร้าที่ฝังลึกและเศร้ายาว จนกลายเป็น 'โรคซึมเศร้า'

เรื่องเศร้าๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชีวิต ที่ทำงาน ความรักการเงิน ความสัมพันธ์ต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีทางออกเสมอและกับกรณีล่าสุด 'เหม' ภูมิภาฑิต นักแสดงหนุ่ม ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้วยการผูกคอในห้องพักซอยลาดปลาเค้า 58 หลังจากที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาเป็นเวลา 2 ปี ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเป็นเรื่องใหญ่ มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่จะตัดสินใจจบชีวิตเป็นทางออก ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ด่วนตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นเลย...

แม้ว่าการแก้ปัญหาชีวิตอาจมีเส้นทางที่ซับซ้อน แต่การรักษาโรคซึมเศร้า อาจกลับมีทางออกง่ายๆคือการใช้ 'กัญชา' เมื่อวันก่อนที่มีการมอบน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ 'สูตรอาจารย์เดชา' ล็อตแรกให้กับโรงพยาบาลที่ทำโครงการวิจัยจำนวน 22 โรงพยาบาล ผมได้พบกับ 'อาจารย์เดชา ศิริภัทร' ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

เพื่อนผมที่เป็นนักข่าวด้วยกัน เดินเข้ามาปรึกษาอาจารย์นอกรอบ เธอเล่าว่าช่วงนี้นอนไม่ค่อยหลับ มีความคิดฟุ้งซ่าน สังเกตอาการตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

อาจารย์เดชา ให้คำแนะนำว่า 'โรคซึมเศร้า' นั้นสามารถที่จะใช้น้ำมันกัญชาหยอดเพื่อรักษาได้ เพราะ กัญชามีฤทธิ์ที่ทำให้ 'นอนหลับ' และอาจารย์เดชา เชื่อว่าการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นการปรับสมดุลให้กับร่างกายซึ่งจะสามารถรักษาได้เกือบทุกโรค 'โรคซึมเศร้า' ก็เช่นเดียวกัน

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าส่วนมาก นอนไม่หลับและในระหว่างที่นอนไม่หลับ ก็จะมีความคิดฟุ้งซ่าน และความคิดที่ฟุ้งซ่านนั่นเอง ที่เป็นปัจจัยซ้ำเติมให้เกิดอาการจิตตกเศร้าใจ แต่ถ้าได้นอนหลับไปได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดเช้าขึ้นมาก็จะมีความสดใส เพราะนอนอย่างเต็มอิ่มมีแรงที่จะแก้ปัญหาต่อไป...

ผมคิดดูแล้วก็น่าจะเป็นความจริง เพราะในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผมมีประสบการณ์ตรงกับการใช้ 'น้ำมันกัญชา' เพื่อเยียวยาจิตใจ หลังจากที่ต้องเผชิญกับภาวะอกหักและถูกทิ้ง ผมยอมรับว่าใช้ 'น้ำมันกัญชา' หยดใต้ลิ้นเพื่อให้นอนหลับ

บางทีผมก็คิดว่าการนอนหลับไปอย่างสนิท สามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้จริง! เพราะอย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่ได้นอน เป็นช่วงเวลาที่เราไม่ต้องแบกรับกับทั้งความคาดหวัง และความผิดพลาดหวังอะไรแล้ว ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น

วันพรุ่งนี้ก็เป็นวันใหม่ ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป ในช่วงเวลาที่เผชิญกับความเลวร้ายที่สุดในชีวิต ผมยังสามารถนอนหลับทุกวันอย่างเต็มอิ่ม มันทำให้ผมฟื้นฟูจิตใจได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยกัญชา ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงการแพทย์ ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งปัญหาสำคัญที่คือ สายพันธุ์ของกัญชาที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า ได้อย่างแท้จริง เพราะอย่างที่ทราบกันว่ากัญชามีโทษอยู่มาก หากได้รับในปริมาณที่สูงหรือถึงขั้นเสพติด ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ร่างกาย และประสาทโดยตรง

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปีค.ศ.2017 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก และในประเทศไทย มีข้อมูลการสำรวจความชุกของโรคซึมเศร้า พ.ศ.2551 พบว่า มีคนไทยป่วยซึมเศร้า 1.5 ล้านคน หากพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 62 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 26.5 และเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้ แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคน

ถ้าหากกัญชาช่วย รักษาโรคซึมเศร้าได้ ก็ควรเร่งศึกษาพัฒนาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์โรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะสามารถช่วยชีวิตคนได้อีก หลายแสน หลายล้านคน ให้ 'อยู่อย่างมีความสุข'

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline