svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'กรมอุทยาน' ห่วงปัญหาการล่านกชนหิน​ เร่งดันกฏหมาย

27 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอุทยานเผยสภาพปัญหาการล่านกชนหิน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN red list)ในปัจจุบัน และมาตรการในการป้องกัน ทั้งด้านกฎหมาย และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์กับทุกภาคส่วนอย่างเข้มข้น

27 ก.ย. 62 - กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุว่า นกชนหิน Rhinoplax vigil เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ของนกในวงศ์นกเงือกที่พบในประเทศไทย โดยมีสถานภาพเป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN red list) อีกทั้งจัดอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาไซเตส

'กรมอุทยาน' ห่วงปัญหาการล่านกชนหิน​ เร่งดันกฏหมาย



ประชากรนกชนหินในประเทศไทยเป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็ก มีการประมาณประชากรไม่เกิน 100 ตัว (ข้อมูลจากการประมาณ) โดยพบนกชนหินกระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี (ความหนาแน่น 1 ตัว/กม2 (มูลนิธินกเงือกแห่งประเทศไทย, 2547-2548) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา (ความหนาแน่น 1.2ตัว/กม2 (Gale & Thomgaree, 2006) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง (ยังไม่มีการสำรวจประชากร)  และจากการติดตามข้อมูลการสร้างรังโดยมูลนิธินกเงือกแห่งประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 - 2562 พบนกชนหินทำรังสำเร็จเฉลี่ยปีละ 2 รัง และในปี 2562 จากการติดตามข้อมูลของสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงพบนกชนหินทำรังสำเร็จ 1 รัง

สภาพปัญหาการล่านกชนหินในปัจจุบัน แบ่งการล่าออกเป็น 2 แบบ คือ 

  • แบบที่ 1  ล่าเพื่อเอาลูกซึ่งฤดูกาลทำรังประมาณ เดือน ธันวาคม - พฤษภาคม 
  • แบบที่ 2  ถูกนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก นายพรานยิงนกเพื่อเอาโหนก

  • สำหรับการดำเนินคดีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของนกชนหิน จำนวน 3 คดี จับผู้ต้องหาได้จำนวน 5 คน นกชนหินที่ยึดมาได้ ยังมีชีวิต จำนวน 3 ตัว เป็นซากจำนวน 1 ตัว

    ทางองค์กร TRAFFIC ได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษาเพื่อประเมิน และประมาณขนาดของการค้านกชนหิน Rhinoplax vigil รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆบนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทยโดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ

    'กรมอุทยาน' ห่วงปัญหาการล่านกชนหิน​ เร่งดันกฏหมาย



    โดยข้อมูลที่พบจากการสำรวจติดตามเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้ พบการโพสต์เสนอขาย อย่างน้อย 236 โพสต์ ที่เสนอขายชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น ใน 32 กลุ่ม จากทั้งหมด 40 กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม โพสต์ทั้งหมดถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562 นกชนหิน คิดเป็นสัดส่วน 83% จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด

    แบ่งหมวดหมู่ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกที่ถูกเสนอขายออกเป็น 8 หมวดใหญ่ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ เครื่องประดับที่พบบางส่วน ถูกประดับตกแต่งด้วยชิ้นส่วนของสัตว์ป่าอื่นๆ รวมไปถึง งาช้าง เขี้ยวเสือ และเล็บเสือ ชิ้นส่วนหัวที่สมบูรณ์ของนกเงือกอีก 8 ชนิดพันธุ์ที่พบทั้งหมดมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ถูกพบในการสำรวจติดตามนี้ด้วย โดยนกกกหรือนกกาฮัง Buceros bicornis มีจำนวนมากที่สุด

    สำหรับมาตรการป้องกันในปัจจุบัน กรมอุทยานฯ ร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เป็นหัวหน้าโครงการ ทำวิจัยการทำรังของนกชนหิน เพื่อศึกษาพฤติกรรมสำหรับใช้ในการวางแผนการจัดการและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนการจัดการ และเพิ่มการสำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพื่อเฝ้าระวัง การเพิ่มเครือข่ายเฝ้าระวังโดยการเปลี่ยนผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานที่เคยล่ามาเป็นทีมงานวิจัย

    ด้านมาตรการเชิงรุกได้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดการพื้นที่เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่พบนกชนหินอยู่อาศัย หากิน และทำรังโดยการจัดเจ้าหน้าที่สำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังดูแลนกชนหินในพื้นที่ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานทั้งลักษณะตัว เสียงร้อง ลักษณะรังของนกชนหิน

    'กรมอุทยาน' ห่วงปัญหาการล่านกชนหิน​ เร่งดันกฏหมาย



    มีการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ของนกชนหินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการป้องกันและจัดการ สนับสนุนการดำเนินการคณะกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ (PAC) เพื่อการจัดการและเฝ้าระวังการลักลอบล่านกชนหิน การบังคับใช้กฎหมาย และการกำหนดนโยบายการจัดการที่ชัดเจน

    สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมตำรวจ กรมศุลกากรและหน่วยงานปกครองในการเฝ้าระวัง ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมาย บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลในการติดตามการซื้อขายซากและผลิตภัณฑ์ของนกชนหินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

    รวมทั้งปรับสถานภาพนกชนหินจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อเพิ่มความสำคัญในการกำหนดมาตรการการอนุรักษา การสืบสวน สอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้การตรวจพิสูจน์เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน จัดทำแผนแม่บทการจัดการนกชนหินแห่งชาติ

    มีการจัดทำแผนที่เส้นทางการล่า ค้า และศูนย์กลางการกระจายสินค้าผิดกฎหมายรวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นั้นๆ ร่วมติดตาม การฟื้นฟูประชากรนกชนหินในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัย เพิ่มอัตราการรอดตายของลูกนกชนหินในธรรมชาติโดยการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังภัยคุกคามทั้งจากสัตว์ผู้ล่าและมนุษย์

    จัดทำรังเทียมในพื้นที่อาศัยของนกชนหินเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรังและเพิ่มประชากรในธรรมชาติ นำผลงานวิจัยมาวิเคราะห์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการวางแผนการศึกษาแนวทางในการเพิ่มประชากรนกชนหิน ส่งเสริมการศึกษา การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยแพร่ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชนในท้องถิ่น สร้างเครือข่าย รัก(ษ์) นกชนหิน รอบพื้นที่อนุรักษ์ที่พบการกระจายของนกชนหิน และจัดทำหลักสูตรนกชนหินศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนในพื้นที่รอบพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกชนหิน

    นอกจากนี้ไทยยังมีเรื่องการอนุวัตตาม CITES กำหนดให้มีการประเมินตนเองด้วยตัวชี้วัด 50 ตัว ครอบคุมด้านบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดีการสนธิกำลังในและระหว่างประเทศการปรับพฤติกรรมลดการบริโภค การสร้างจิตสำนึกร่วมด้วย

    ภาพ : Wittawat K Noul-in (Guide K)

    logoline