svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชี้ "ธนาธร" ปล่อยกู้ "อนาคตใหม่" ผิดแน่ แต่ไม่ฟันธงจะยุบพรรคหรือไม่

26 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นเงินกู้จำนวน 191 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อร่างสร้างพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนจะกลายเป็นหอกข้างแคร่ของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เพราะอาจเป็นชนวนสุ่มเสี่ยงไปถึงขั้นต้องยุบพรรค เนื่องจากส่อขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้มีการจัดทำคลิปไวรัลชี้แจงข้อกล่าวหากู้เงินผิดกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ โดยให้เหตุผลเอาไว้ 8 ข้อ ภายใต้ธีมหลักว่า ประเด็นเงินกู้จะนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ "ชัวร์หรือไม่ ใช่หรือมั่ว" โดยสามารสรุปเหตุผลการกู้เงินได้ว่า  ทางพรรคไม่สามารถจัดระดมทุนหรือรับบริจาคได้มากพอที่จะเดินหน้ากิจกรรมของพรรค เพราะติดประกาศและคำสั่งของ คสช. กว่าที่ คสช.จะปลดล็อคให้ก็ใกล้เลือกตั้งเต็มที ซึ่งการกู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อการเลือกตั้งแสดงถึงความโปร่งใส เพราะสามารถชี้แจงที่มาของงบประมาณที่นำมาใช้ทำกิจกรรมได้อย่างชัดเจน


นอกจากนี้ ในคลิปไวรัลยังอ้างว่า ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน และเงินกู้ไม่ถือเป็นรายได้ แต่เป็นหนี้สินที่ต้องชำระคืน ขณะเดียวกัน เงินที่ได้จากการกู้ก็นำไปใช้ในเรื่องต่างๆ ของพรรค เช่น การตั้งสาขาพรรค เช่าอาคาร สถานที่ทำการ เป็นต้น ประเด็นสำคัญที่สุดของคลิปไวรัลนี้ก็คือ ต่อให้ กกต.หรือองค์กรอิสระวินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริง ก็ไม่มีโทษถึงขั้นยุบพรรค    

"เนชั่นทีวี" ขอความเห็นจากอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ อดีต กรธ. ศาสตราจารย์ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ได้รับคำตอบว่า การที่กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้เขียนห้ามเรื่องการการกู้ยืมเงิน โดยเขียนเฉพาะที่มาของรายได้พรรคการเมือง ซึ่งมีอยู่ 7 ช่องทาง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ พรรคการเมืองก็จะสามารถกู้เงินได้ เพราะพรรคการเมืองมีสถานะถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 



เมื่อพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน จึงสามารถทำได้เฉพาะเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ทำเท่านั้น ต่างจากเอกชนหรือประชาชนทั่วไปที่ยึดหลักถ้ากฎหมายไม่ห้าม ก็ทำได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด ฉะนั้นพรรคการเมืองจะทำเหมือนบริษัทเอกชนไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง


ส่วนความผิดนี้จะถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ อาจารย์ชาติชาย บอกว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่จะสรุปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "เนชั่นทีวี" พบว่า กฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ระบุความผิดฐานกู้เงินเอาไว้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้ทำได้ แต่ก็มีนักกฎหมายบางรายมองว่า การกู้เงิน หรือการให้กู้ อาจเข้าข่ายตีความว่าเป็นเงินบริจาค หรือผลประโยชน์อื่นใดมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทที่บุคคลมอบให้พรรคการเมือง และพรรคก็ยินยอมที่จะรับไว้ด้วย จึงถือเป็นความผิดตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมีโทษจำคุกฝ่ายผู้ให้ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ส่วนผู้รับ คือพรรคการเมืองนั้น จะโดนโทษปรับ 1 ล้านบาท และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ทั้งหมดนี้ไม่พบว่ามีโทษยุบพรรค


แต่นักกฎหมายบางราย บางสำนัก ก็ยังตีความว่าอาจเข้าข่ายนายธนาธรครอบงำพรรค เพราะเป็นเจ้าของเงินกู้ก้อนใหญ่ แต่เมื่อดูกฎหมายจริงๆ แล้ว ระบุเอาไว้เฉพาะการครอบงำจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเท่านั้น จึงยังไม่พบช่องทางที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่จากความผิดนี้

logoline