svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อนาคตใหม่....ปล่อยคลิป กู้เงินไม่ผิด

25 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ "พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก" จริงๆสำหรับพรรคอนาคตใหม่ ภายหลังเจอกับกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับกรณีที่ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้เงินเป็นจำนวนเงิน 191 ล้านบาท

โดยประเด็นถูกเปิดเผยผ่านรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทันทีที่เปิดเผยออกมา ปรากฎว่า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งล่าสุดของกกต. แม้จะยังไม่มีวาระพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้สร้างความหนักใจให้กับพรรคอนาคตใหม่พอสมควร เพราะอิทธิฤทธิ์ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่พยายามชี้แจงในสองประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1.พรรคสามารถกู้เงินได้ เนื่องจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไม่ได้กำหนดห้ามเอาไว้ ซึ่งในทางกลับกัน หากกฎหมายพรรคการเมืองไม่ประสงค์จะให้พรรคการเมืองกู้เงินจริงๆย่อมจะต้องกำหนดข้อห้ามไว้ให้ชัดเจน ประกอบกับที่ผ่านมาทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเคยกู้เงินมาก่อนเช่นกัน

ในเมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุเรื่องการห้ามกู้เงินไว้ชัดเจน พรรคอนาคตใหม่ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิในการกู้เงินจากบุคคลใดก็ได้และมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน

2.เงินกู้ไม่ได้เป็นรายได้ของพรรคการเมือง โดยพรรคอนาคตใหม่พยายามอธิบายว่าตามหลักการทำบัญชีของนิติบุคคลเงินกู้เป็นส่วนของหนี้สิน ซึ่งแยกออกจากรายได้
ขณะที่ ล่าสุดพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะได้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านยูทูปและเฟซบุ๊กของพรรคหัวข้อ "พรรคยุบพรรคยุบพรรค!!! ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่? เงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่?" โดยมีสาระสำคัญ 8 ประการ สรุปได้ดังนี้

1. เราจำเป็นต้องกู้เพราะรับบริจาค-ระดมทุนไม่ได้ เพราะติดประกาศ คสช. ที่ กกต. ห้ามไม่ให้พรรครับบริจาค-ขายสินค้าระดมทุนในช่วงตั้งพรรคใหม่ๆ ในขณะที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการเริ่มต้นสร้างพรรค จัดตั้งสาขา ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด-ศูนย์ประสานงานพรรค และรณรงค์หาสมาชิก สร้างความรับรู้ รวมทั้งเช่าอาคาร สถานที่ และจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่พรรค

2. การกู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส เราต้องการเปิดเผยที่มาของงบประมาณที่มาทำกิจกรรมอย่างชัดแจ้ง มิใช่มีนายทุนใหญ่หอบเงินมา แล้วไม่แจ้งที่มาที่ไป ดังนั้น ตัวเลขที่ออกมาทั้งหมด เป็นการตั้งใจเปิดเผยของพรรคอนาคตใหม่ต่อสาธารณชน ไม่ได้มาจากการขุด การแฉ ใดๆ ทั้งสิ้น

3. ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามพรรคการเมืองกู้เงิน และหากต้องการห้ามพรรคการเมืองกระทำการใด จะต้องมีกฎหมายเขียนห้ามไว้ชัด

อนาคตใหม่....ปล่อยคลิป กู้เงินไม่ผิด



4. "เงินกู้" ไม่ใช่ "รายได้" และไม่ใช่การบริจาค แต่เป็น "หนี้สิน" ที่ต้องชำระคืน นี่คือหลักสากล

5. เงินกู้ที่ได้มา นำไปใช้ในการตั้งพรรค ค่าเช่าอาคาร สถานที่ ที่ทำการพรรค สาขาพรรค ศูนย์ประจำจังหวัดทั่วประเทศ เงินเดือนพนักงาน การจัดกิจกรรมรณรงค์หาสมาชิกพรรค ไม่ได้นำมาใช้ในการรณรงค์หาเสียง

6. ต่อให้ กกต. และองค์กรอิสระอื่นใด มีข้อวินิจฉัยว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริง ก็ไม่มีโทษถึงขนาด "ยุบพรรค"

7. อย่าปล่อยให้ผู้ไม่หวังดี ฉวยโอกาสทุกครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้สังคมว่าพรรคจะโดนยุบแน่นอน

8. สุดท้ายและสำคัญที่สุด : สรุปแล้วสังคมไทยอยากเห็นพรรคการเมืองแบบไหนกันแน่? ระหว่างพรรคที่ทำอะไรโปร่งใส ตรวจสอบได้ เอาทุกอย่างมาแบกะดินทั้งหมด แต่ถูกเล่นงานทางกฎหมายวันต่อวัน หรือพรรคการเมืองที่ใช้เงินมหาศาลในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่ถูกจริยธรรม และไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดใดๆ แต่อยู่รอดปลอดภัยเพราะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย? เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะทำอย่างหลัง และในประเทศนี้ก็มีอยู่ทั่วไป แต่ถามจริงๆ คุณอยากได้พรรคแบบนั้นจริงๆ หรือ?



แต่กระนั้นความพยายามในการอธิบายของพรรคอนาคตใหม่ก็ยังมีช่องเกิดการโต้แย้งในทางวิชาการได้พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นการได้มาซึ่งรายได้ของพรรคการเมืองและความสามารถในการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่

ในประเด็นเรื่องรายได้ของพรรคการเมือง ปัจจุบัน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 บัญญัติรายได้ของพรรคว่ามีด้วยกัน 7 ทาง ประกอบด้วย (1) เงินทุนประเดิม (2) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับ (3) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค (6) เงินอุดหนุนจากกองทุน และ (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายในอดีตก็ได้มีการบัญญัติถึงที่มาของรายได้พรรคการเมือง 7 ทางเช่นกัน แต่ในมาตรา 53 ระบุว่า "พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้...(7) รายได้อื่น"

ประเด็นนี้ 'สดศรี สัตยธรรม' อดีตกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง มีความเห็นว่า กฎหมายพรรคการเมืองในอดีตได้ระบุคำว่ารายได้อื่นๆไว้เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสวงหารายได้จากช่องทางอื่นๆที่ชอบด้วยกฎหมายได้ แต่เมื่อกฎหมายปัจุบันตัดคำว่า "รายได้อื่น" ออกไปแล้ว ย่อมทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้

อนาคตใหม่....ปล่อยคลิป กู้เงินไม่ผิด




แต่สำหรับประเด็นเรื่องการเป็นรายได้ของพรรคการเมืองในส่วนของเงินกู้ เสรี สุวรรณภานนท์' ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา แสดงความคิดเห็นว่า "เงินกู้ย่อมไม่มีทางเป็นรายได้ของพรรคการเมืองไปได้ เพราะกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองมีรายได้ 7 ประการเท่านั้น โดยไม่ได้บัญญัติเรื่องการกู้เงินเอาไว้ เพราะหากไปตีความในทำนองว่าเมื่อไม่มีกฎหมายห้ามย่อมกระทำได้ แบบนี้เท่ากับกฎหมายพรรคการเมืองจะกลายเป็นหมันทันที"

"หากให้กู้เงินกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการระดุม หรือการเก็บค่าสมาชิกพรรค แต่จะมีเพียงแค่เงินที่มาจากนายทุนเงินกู้ ดังนั้น เมื่อพรรคมีรายได้แค่ 7 ทางก็จะมีได้แค่ตามที่กฎหมายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้กกต.จะต้องพิจารณาและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นบรรทัดฐานว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือเงินที่ได้มานั้นชอบด้วยกฎหมายและมีกฎหมายรองรับหรือไม่ ส่วนจะถึงขั้นการยุบพรรคหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ" ความคิดเห็นจาก ส.ว.

logoline