svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

Mission Possible 'น่าน Sand Box' พลิกวิกฤติป่าต้นน้ำ

23 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 "ป่าต้นน้ำน่าน" กลายเป็นภาพจำ (ที่น่าสะเทือนใจ) ของคนไทย จากการถูกถากหายไปกว่า 1.8 ล้านไร่ จนกลายเป็นที่เรียกกันว่า "ภูเขาหัวโล้น" และจุดกระแสอนุรักษ์ป่าไทยให้สังคมตื่นตัว เพื่อการร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นคืนป่าไม้ให้น่านอยู่พักใหญ่

ทำไมต้องป่าน่าน? ทำไมปัญหาของน่าน ...คือปัญหาของประเทศ? เพราะเจ้าพระยามาจากต้นสายของแม่น้ำน่านกว่าร้อยละ 40 การสูญเสียพื้นที่ป่า ปีละ 2.5 แสนไร่ ที่สร้างผลกระทบให้กับป่ากว่า 4.5 ล้านไร่ กลายเป็นภารกิจหลักของ "คุณบัณฑูร ล่ำซำ" หัวเรือใหญ่ฟากเอกชน ที่เข้ามารับหน้าเสื่อในงานอนุรักษ์ ฟื้นฟูและแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องถึงวันนี้ แม้กระแส "รักษ์ป่าน่าน" จะจางไป ก็ไม่ได้แปลว่า "แผลเป็น" ของพื้นที่ป่าอันดับ 5 ของประเทศอย่างป่าน่านนั้นจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ตรงกันข้ามปัญหาทุกอย่างยังดำรงอยู่

Mission Possible 'น่าน Sand Box' พลิกวิกฤติป่าต้นน้ำ


กว่า 5 ปีแล้วที่ "คุณบัณฑูร ล่ำซำ" ยังคงเดินหน้าออกมากระตุ้นสังคม ให้หันมาสนใจปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังที่จะเห็นการแก้ปัญหาน่าน เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาอีกหลายพื้นที่ของประเทศ
โมเดลนี้เรียกว่า "NAN Sandbox" ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 มิติคือ 1.ปัญหาที่ดิน ป่าไม้ 2.จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิต ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน และ 3.ปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเชิงเดียวสู่อาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ ที่เรียกว่า "NAN Sandbox" เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมีสมการ 72-18-10 เป็นสูตรในการแก้ปัญหา...72%สำหรับพื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน ที่จะต้องช่วยรักษาป่าต้นน้ำผืนนี้ให้คงอยู่ตลอดไป 18%สำหรับพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่รัฐจะอนุญาตให้เกษตรกรปลูก "พืชเศรษฐกิจ" ใต้ร่มไม้ใหญ่ในพื้นที่ส่วนนี้ได้ 10%สำหรับพื้นที่ที่จัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่ยังคงเป็นเขตป่าสงวนโดยกฎหมายขณะที่ขั้นตอนการดำเนินงานสามารถแบ่งออกไป 3 ก้าวหลักๆ
ปี 2561 คือ การสื่อสารแนวทางแก้ปัญหาให้กับผู้นำชุมชนและเกษตรกร โดยแจกแจงตัวเลขการใช้พื้นที่ทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัดน่านออกมา ตัวเลขที่คืนป่าบางส่วนให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ความต้องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สร้างฐานข้อมูลของจังหวัด และเจรจากับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล
ปี 2562 คือ การดำเนินการหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน หยุด หรือชะลอการตัดป่า และการรุกคืบของข้าวโพด เตรียมพืชทางเลือก ขณะเดียวกันก็ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำ รวมทั้งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกร และระดมความรู้จากศาสตร์ทุกแขนงเพื่อแก้ปัญหา
ปี 2563 เป็นต้นไป คือ การนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปให้แก่เกษตรกรเพื่อเปลี่ยนวิถีทำกิน ไม่ว่าจะเป็นพืชทางเลือก เทคโนโลยีทางการเกษตร แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า จัดการระบบขนส่ง และจัดเก็บให้มีมาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์น่าน พัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร
"ถ้ารัฐกับประชาชนร่วมมือกันไม่ได้ ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้" เป็นความท้าทายที่ "คุณบัณฑูร" พยายามบอกเล่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าความร่วมมือที่เจ้าตัวคาดหวังเอาไว้จะเกิดขึ้นแล้ว เมื่อ "พื้นที่ทำกิน" ในกรอบของกฎหมายนั้นต่างเป็นที่ยอมรับบนโต๊ะเจรจาด้วยความพยายามและความเอาจริงเอาจังในการลงพื้นที่ พบปะพูดคุย และประสานงานกับหน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผ่านไปเกือบ 1 ปี หัวเรือใหญ่อย่าง "คุณบัณฑูร" ยอมรับว่า ประเด็นเหล่านี้ก้าวคืบไปแล้ว "ครึ่งก้าว"เมื่อ "การปลูกให้เสร็จ" กับ "การปลูกให้สำเร็จ" นั้นต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำน่านที่มีปัจจัยแวดล้อมค่อนข้างซับซ้อน และเรื้อรังตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา "ครึ่งก้าว" ในความหมายของการแก้ปัญหาสำหรับ "คุณบัณฑูร" จึงมีมากกว่าความคืบหน้าเท่าที่ตาเห็นตั้งแต่ "ล้างไพ่" เพื่อนำไปสู่ข้อมูลเอกสารชุดเดียวกันของทั้ง ชาวบ้าน - รัฐ - ฝ่ายความมั่นคง โดยแต่ละตำบลจะต้องทำตัวเลขสถานการณ์ตัวเองเพื่อนำไปสู่การจัดสรรพื้นที่ และสร้าง "มูลค่าสูงสุด" ภายใต้เขตพื้นที่ที่กำหนดรูปธรรมของการบรรลุ "ข้อตกลง" สำหรับป่าน่านก็คือ มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มี "นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการดำเนินงาน พื้นที่จังหวัดน่าน โดยมี "ดร.วิจารย์ สิมาฉายา" "ปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" เป็นประธานกรรมการภาครัฐ
ส่วน "คุณบัณฑูร ลํ่าซำ" เองเป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการอีก 23 คน ร่วมด้วยอนุกรรมการด้านจัดทำชุดข้อมูลและแผนที่ และอนุกรรมการด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งหมดได้เข้ามาทำหน้าที่ บริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนหลังจากได้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ทำกินในเขตป่าทั้งจังหวัด ตัวเลขการคืนป่าบางส่วนเพื่อปลูกกลับคืนเป็นต้นไม้ใหญ่ และความต้องการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่การดำเนินการด้านนโยบาย และกำกับดูแลในเรื่องของสิทธิทำกินแล้ว
สิ่งที่ต้องมองต่อไปในปีหน้าก็คือ "แหล่งเงินสนับสนุน"เม็ดเงินที่จะมาช่วยในเรื่องของการหยุดการตัดป่า ชะลอไร่อุตสาหกรรม เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำ และป่าเสื่อมโทรม ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการระดมความรู้จากศาสตร์ทุกแขนงเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะเป็นผู้พิจารณาจัดสรร โดยพิจารณาประกอบกับคู่มือชุมชน ที่แจกไปยังทุกครัวเรือนใน 99 ตำบลเรียบร้อยแล้ว คู่มือนี้จะเก็บรายละเอียดพื้นที่ ปัญหา การทำกิน และอื่นๆ ทั้งหมดเนื่องด้วยงบประมาณในส่วนนี้หากอยู่ในกลไกของภาครัฐจะเกิดความยุ่งยาก และล่าช้าทั้งในแง่ของการเบิกจ่าย หรือการติดตามผลสัมฤทธิ์
งบดังกล่าวในสายตา "คุณบัณฑูร" จึงมองไปที่การระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศผ่าน "มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน" ที่กำลังดำเนินการอยู่นี่จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกหนสำหรับ "ป่าต้นน้ำน่าน" นับตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยตัวเลข และปัจจัยอันซับซ้อนของปัญหาการรุกป่าที่มีมากว่า 6 ทศวรรษ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเม็ดเงินที่จะมาช่วยในเรื่องของการหยุดการตัดป่า ชะลอไร่อุตสาหกรรม เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน แหล่งน้ำ และป่าเสื่อมโทรม ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านรวมถึงการระดมความรู้จากศาสตร์ทุกแขนงเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ล้วนเป็น "โจทย์ที่พูดง่าย แต่ทำยากอย่างยิ่ง"เอาใจช่วย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" "นายกรัฐมนตรี" และ "คุณบัณฑูร ลํ่าซำ" ให้สามารถฝ่าฟันดำเนินภารกิจที่ท้าทายนี้ให้ได้ลุล่วง เพราะหาก "NAN Sandbox" ประสบความสำเร็จ มันจะเป็นดั่งโดมิโน่ชิ้นแรกที่จะกระทบชิ่งและกอบกู้วิกฤติของผืนป่าทั่วประเทศได้

logoline