svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

สารวัตรตำรวจค้ายา กับปัญหาการแต่งตั้งตำรวจ!

20 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรณีทหาร ฉก.ม.๒ กองกำลังผาเมืองและตำรวจอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจับกุม พ.ต.ท.สุจริต ทาวุธ สารวัตรสืบสวนจังหวัดอุทัยธานี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ ๖๐ หลังจากตรวจพบยาบ้า ๑๙๘,๐๐๐ เม็ดในกระเป๋าเดินทางบริเวณที่เก็บสัมภาระของรถโดยสาร

ปรากฎหลักฐานที่นั่งตรงกับ พ.ต.ท.สุจริตฯ ทำให้เจ้าตัววิ่งหนีลงจากรถไปซ่อนตัวในพงหญ้าหลังจุดตรวจถ้ำปลา ถนนพหลโยธินนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าว นับเป็นเรื่องที่อับอายต่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยิ่ง ที่ตำรวจระดับสารวัตรผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายของชาติกลายเป็นคนร้ายขนค้ายาเสพติดจำนวนมากเสียเองเช่นนี้

และไม่มีใครรู้ว่า ในความเป็นจริง เขาทำมาแล้วกี่ปี กี่ครั้ง มากน้อยเพียงใด?

สารวัตรตำรวจค้ายา กับปัญหาการแต่งตั้งตำรวจ!


จะเอาไปส่ง หรือนำไปเก็บพักไว้ในที่ทำงานห้องสืบสวนจังหวัด หรือจะไปขายต่อให้ใครที่ใด ในหรือนอกเมืองอุทัยธานี?

ที่บอกว่าแค่รับจ้างขน ได้เงินเพียงหนึ่งแสนบาท เชื่อได้หรือไม่?

หรือในความเป็นจริง เป็นการร่วมกับใคร "นำเข้า" เป็นทอดๆ มาจากนอกประเทศติดเขตแดนอำเภอแม่สายกันแน่?

การครอบครองยาบ้าซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่งเกือบสองแสนเม็ด ตามกฎหมายถือเป็นการ "ครอบครองเพื่อจำหน่าย" มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

แต่ถ้าเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่าย "มีโทษประหารสถานเดียว" ตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง!

ส่วนการสืบสวนสอบสวนประเด็นนี้ ตำรวจผู้รับผิดชอบได้มีความพยายามค้นหาพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริงจนสิ้นสงสัยหรือไม่ ไม่มีใครแน่ใจ?

เนื่องจาก การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานล้วนอยู่ในความรับรู้รับผิดชอบของตำรวจด้วยกันแทบทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบต่อปัญหาร้ายแรงนี้ ก็มีอำนาจสอบสวนคดีเองด้วย!?

ยาบ้าเกือบสองแสนเม็ด ถ้าเอาไปขายส่งในเขตภาคกลาง คิดแค่เม็ดละ ๒๐ บาท จะได้เงินถึงสี่ล้าน

ในขณะที่ต้นทุนหากซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่น่าจะเกินเม็ดละเพียงสามบาท

สารวัตรสืบสวนจังหวัดเล็กๆ แบบอุทัยต้องการเงินไปใช้จ่ายอะไร โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่กำลังมีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับ รอง ผบก.ไปจนถึง รอง สว.ทั่วประเทศ

จะมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ผู้คนจำนวนมากต่างสงสัย?

และยิ่งเป็นเรื่องน่าตกใจที่ตำรวจผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ ของสารวัตรตำรวจคนนี้ให้สัมภาษณ์ว่า รู้ดีอยู่แล้วเรื่องเขามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด!

แต่เหตุใดจึง "แต่งตั้ง" หรือ "ปล่อย" ให้ทำงานในตำแหน่งสารวัตรสืบสวนจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่สืบจับผู้กระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ทุกอำเภอเช่นนี้

นี่ถ้าไม่ถูกจับได้ ก็คงทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมายและขนขายยาเสพติดไปพร้อมเดียวกัน

เรื่องที่เกิดขึ้น ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนพยายามอธิบายว่าเป็น "ปัญหาพฤติกรรมส่วนบุคคล" ไม่เกี่ยวกับองค์กรหรือระบบงานการบริหารจัดการแต่อย่างใด?

และจะได้ตั้งกรรมการสอบสวนผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติผิดกฎหมายหรือวินัยตำรวจตามลำดับชั้น ตามคำสั่งกรมตำรวจ "โบราณ" ที่ ๑๒๑๒/๒๕๓๗

นั่นก็เป็นเรื่องหลอกเด็ก หลอกสื่อมวลชนและประชาชนตลอดมาเช่นเดียวกัน!

เพราะในความเป็นจริง การตั้งกรรมการสอบสวนตำรวจตามคำสั่งนี้ ไม่ได้มีผลนำไปสู่การลงโทษทางวินัยต่อใครเป็นโล้เป็นพายได้จริงแต่อย่างใด

การอ้างว่า ตำรวจผู้ถูกมอบหมายให้มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมความประพฤติ บกพร่องต่อหน้าที่ ต้องมีลงโทษทางวินัยด้วย

ก็ต้องตั้งคำถามว่า ผู้ถูกออกคำสั่งมอบหมายเช่นนั้น เขาทำผิดวินัยข้อหาใด?

เรื่องตำรวจไทยกระทำความผิดอาญาและวินัยกันมากมายไม่หยุดหย่อนสะท้อนว่า โครงสร้างการจัดองค์กรและระบบการบริหารมีปัญหาอย่างร้ายแรง

นายกรัฐมนตรีสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ไม่ยาก

บางเรื่องไม่ต้องออกเป็นกฎหมายหรืออาศัยเสียงสองสภาตั้งกรรมการพิจารณาวนเวียนกันไปมาให้น่าเวียนหัวแต่อย่างใด?

อย่างปัญหาการตั้งกรรมการสอบสวนที่ส่วนใหญ่ผลสรุปสุดท้ายไม่เป็นโล้เป็นพาย ไม่นำไปสู่การลงโทษตำรวจที่กระทำความผิดอาญาหรือวินัยโดยเฉพาะข้อหา "รับส่วยสินบน" ไม่ว่าจากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือว่าผู้กระทำกฎหมายให้เข็ดหลาบได้อย่างแท้จริงเช่นทุกวันนี้

สามารถแก้ได้ด้วยวิธีทำหนังสือสั่งไปยัง ผบ.ตร. ให้ตรวจสอบข้อมูลการตั้งกรรมการสอบสวนตำรวจย้อนหลังไปห้าปี

ว่ามีจำนวนเท่าใด ข้อหาใด และผลสรุปการสอบสวนได้นำไปสู่การสั่งลงโทษตำรวจระดับใดและชั้นยศใดไปแล้วกี่คน

เรื่องทุจริตต่อหน้าที่รับส่วยสินบน หรือประชาชนไปแจ้งความแล้วไม่รับคำร้องทุกข์ดำเนินคดี มีตำรวจคนใดถูกไล่ออกปลดออกไปบ้างหรือไม่?

หรือปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ทำลายขวัญและกำลังของตำรวจส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสายและเครือข่ายอุปถัมภ์ลงอย่างร้ายแรงในปัจจุบัน

แค่สั่งให้ ผบ.ตร.ไปออกคำสั่งกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายให้ชัดเจน

ถ้ายังคิดวิธีประเมินที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนและตำรวจเชื่อถือแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้

ก็ให้ใช้อาวุโสเป็นหลักในการพิจารณาทุกตำแหน่ง หมดปัญหาเรื่องการแต่งตั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๐ วรรคสาม รวมทั้งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดนายมีชัยเสนอไป และกำลังตรวจร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

ผู้มีอาวุโสสูงกว่าในสายงาน หน่วยงานหรือจังหวัดเดียวกัน ต้องได้รับการพิจารณาก่อนผู้มีอาวุโสต่ำกว่า

ส่วนใครมีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัยหรือความประพฤติเรื่องใดที่ผู้บังคับบัญชาคนใดสามารถนำมาอ้างแสดงหลักฐานให้ปรากฏได้ ก็บันทึกไว้ แล้วพิจารณาผู้มีอาวุโสถัดไป

แค่นี้ ก็แก้ปัญหาการวิ่งเต้น เล่นพรรคเล่นพวก เล่นรุ่นเล่นสถาบัน กำจัดระบบอุปถัมภ์ รวมทั้ง "อาชญากรรมการซื้อขายตำแหน่ง" ได้กว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ทันที
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์

logoline