svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คุณภาพชีวิตสัตว์​ป่าที่​ 'วัด'​ กับ​ 'สถานเพาะเลี้ยง'​ ของกรมอุทยานฯ

18 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถ้าให้ พูดถึงบรรยากาศภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานกับบรรยากาศของทางวัดแล้ว 'พี่เพชร' น่าจะมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเพื่อนๆเสือโคร่งที่ต้องไปอยู่กับอุทยาน หรือเปล่า?

'พี่เพชร' สิงโตเพศผู้อายุ 14 ปี เป็นสิงโตตัวเดียวที่ยังหลงเหลือ อยู่ในวัดป่าหลวงตามหาบัว ก่อนหน้านี้เพื่อนๆของพวกมัน ที่เป็นเสือโคร่ง จำนวน 147 ตัว ถูกย้ายไปอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ในการควบคุมดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

'พี่เพชร' ก็เป็นสัตว์ป่าเหมือนกับเสือแต่พี่เพชรเป็นสัตว์นำเข้าที่มีใบอนุญาตถูกต้อง และวัดก็มีใบอนุญาตสวนสัตว์สาธารณะ พี่เพชรจึงยังอยู่ในวัดต่อไป โดยหลวงตาจันทร์ ยังคงดูแลเป็นอย่างดี

กรงของ 'พี่เพชร' สะอาดสะอ้าน มีคนเข้ามาทำความสะอาดทุกวัน เปิดประตูให้ออกไปวิ่งเล่นได้ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่ได้อย่างอิสระ ได้กินไก่ต้ม วันละ 3 กิโล ในวันที่เราไปเยี่ยมพี่เพชร พี่เลี้ยงตะโกนคุยกับพี่เพชรให้พี่เพชรคำรามให้เราฟัง... เสียงคำรามดังกึกก้อง ดูเหมือนว่าวันนี้พี่เพชร จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ

3 ปีหลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชนำเสือของกลาง ออกจากวัดป่าหลวงตามหาบัว ไปดูแลเอง กรงเสือจำนวนหลายสิบกรงถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง บางกรงมีหมูป่าเข้ามาอยู่อาศัยแทนที่ แต่ทุกกรงก็ยังอยู่ในสภาพที่แข็งแรง

หลังจากปรากฏข่าวเสือของกลาง ที่กรมอุทยานฯ นำไปเลี้ยง ตายไป 86 ตัว ทำให้เกิดคำถามว่า กรมอุทยานฯเลี้ยงดูสัตว์เสือของกลางได้ดีเพียงพอหรือไม่ แม้จะมีการแถลงข่าวยืนยันว่า 'เสือ' มีความอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากผสมพันธุ์กันเอง จนเกิดภาวะเลือดชิด และค่อยๆทยอยตาย ด้วยโรคอัมพาตกล่องเสียงบ้าง โรคหัดบ้าง

แต่ดูจะสวนทางกับความคิดเห็นของคนที่เลี้ยงเสือเหล่านี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปี 'หลวงตาจันทร์' บอกว่าไม่เคยพบเห็นเสือมีอาการอ่อนแอในช่วงที่อยู่กับอาตมา และไม่เชื่อว่า เสือที่ทยอยตายติดๆกันนั้น มีสาเหตุมาจากภาวะเลือดชิด แต่น่าจะเกิดจากมาตรฐานในการเลี้ยงดูที่ต่ำกว่าวัดที่เคยเลี้ยง

มาจนถึงวันนี้ วัดยังคงยืนยันและปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เคยหาผลประโยชน์จากสัตว์ป่าที่กรมอุทยานฯ เคยนำมาฝากไว้ตั้งแต่เริ่มแรก และนำเอากลับไป ที่สุดแล้วถ้ากรมอุทยานฯ เลี้ยงไม่ไหวก็พร้อมที่จะรับกลับมาเลี้ยงเองด้วยความสงสาร

'หลวงตาจันทร์' ยังเป็นห่วงอีกว่า เสือแต่ละตัวนั้นมีมูลค่าทุกชิ้นส่วน จำนวนเสือที่ตายไปแล้ว 86 ตัว ไม่ว่าจะเป็นเขี้ยว หนัง ขน หรืออวัยวะเพศ ต่างๆ ล้วนมีมูลค่าทั้งสิ้น ซึ่งต้องการความโปร่งใสในเรื่องนี้ แม้จะได้รับคำยืนยันจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ว่าทุกชิ้นส่วนของเสือที่ตายแล้วต่างๆยังอยู่ครบ

แต่ 'หลวงตาจันทร์' ก็อยากเข้าไปดูให้เห็นกับตาในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ว่าเสือมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และเสือที่ตายไปแล้วมีการจัดการกับซากอย่างโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน

แต่ถ้าให้ พูดถึงบรรยากาศภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานกับบรรยากาศของทางวัดแล้ว 'พี่เพชร' น่าจะมีคุณภาพชีวิตดีกว่าเพื่อนๆเสือโคร่งที่ต้องไปอยู่กับอุทยาน หรือเปล่า?

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NATIONTV

logoline