svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มติศาลรธน. ชี้ คุณสมบัติ "บิ๊กตู่" ไม่ขัดรธน.

18 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศาลรธน." วินิจฉัย ตำแหน่ง "หัวหน้าคสช." ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เหตุยึดอำนาจ ปกครองประเทศด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด "บิ๊กตู่" ไม่ขาดคุณสมบัติ นั่งนายกฯ

จากกรณี คำร้องดังกล่าวยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร นำโดย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 101 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เวลานั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 89 บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี อันเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเดียวกับผู้สมัครส.ส.หลายประการ

หนึ่งในนั้น คือมาตรา 98 (15)ซึ่งระบุว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง...เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ"

คดีนี้จึงมีประเด็นสำคัญที่อยู่ที่ตำแหน่งหัวหน้าคสช.มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่

ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543ถึงองค์ประกอบความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะต้องประกอบด้วย4 เงื่อนไข ได้แก่1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย



ขณะที่ พรรคเพื่อไทยยังอ้างอิงถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่3578/2560แม้คำพิพากษาศาลฎีกาครั้งนี้จะไม่ได้ระบุถึงความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของหัวหน้าคสช.โดยตรง แต่การที่ศาลฎีกาให้ความเห็นว่าคสช.มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าหัวหน้าคสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจในนามของคสช.มีความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญจะให้น้ำหนักกับแนวคำวินิจฉัยความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของคสช.ขององค์กรอื่นอย่างไร โดยเฉพาะกับกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เคยให้ความเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้าคสช.ไม่ได้มีสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

"เมื่อพิจารณาถึงสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ..."

"ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐหากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ" ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

แม้ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจจะไม่ได้เด็ดขาดและมีผลผูกพันทุกองค์กร เหมือนกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินถือเป็นองค์แรกที่ให้ความเห็นและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ดำเนินการตามแนวของผู้ตรวจการแผ่นดินในเวลาต่อมา

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญให้น้ำหนักกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้ เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีครบถ้วน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นเป็นอย่างอื่น แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ต้องตกที่นั่งลำบากเนื่องจากกระบวนการเลือกนายกฯยังมีเสียงส.ว.คอยสนับสนุนอยู่ แต่ในทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเสียรังวัดไม่น้อย

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 18 ก.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ( 4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15) หรือไม่ จากเหตุดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ โดยมีนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ และ พล.ต.วิรัช โรจนวาช คณะทำงานนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เข้ารับฟังการวินิจฉัยของศาล

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า คดีนี้ส.ส.จำนวน 110 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯโดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติต้องห้าม เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าทีอื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค57 ต่อมามี พระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน เห็นได้ว่าการแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด

ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และประชาชน ดังนั้นตำแหน่ง หัวหน้าคสช.จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98(15) ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15)

ส่วนกรณีที่นางอุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ยื่นคัดค้าน 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้วินิจฉัยคดีนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง

logoline