svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม

18 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.62 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

โดยย้ำว่าการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยมีลำดับขั้นตอน ตั้งแต่การช่วยเหลือเฉพาะหน้าเร่งด่วนเมื่อเกิดภัย เช่น การอพยพ การตั้งศูนย์พักพิง การลำเลียงอาหารและน้ำ การรักษาพยาบาล เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนได้รับความปลอดภัย จากนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะเร่งสำรวจและฟื้นฟูความเสียหายให้ทุกอย่างกลับสู่ปกติ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ประสบภัยอย่างดีที่สุดด้วย
นางนฤมล กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบทางราชการ เช่น ค่าช่วยเหลือการดำรงชีพเบื้องต้น ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพที่เสียหาย ค่าชดเชยพื้นที่เกษตร ประมง ปศุสัตว์เสียหาย เป็นต้น หากมีผู้เสียชีวิตครอบครัวจะได้รับเงินตามหลักเกณฑ์รายละ 50,000 บาท ส่วนกรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจะได้เงินช่วยเหลือประมาณ 200,000 บาทต่อหลัง เพื่อใช้เป็นค่าวัสดุก่อสร้าง และบ้านเรือนที่เสียหายบางส่วนจะช่วยเหลือตามความเป็นจริงตั้งแต่ 15,000 - 70,000 บาท รวมทั้งยังมีการช่วยเหลือจากสถาบันเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น ธ.ก.ส. ธอส.ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ผ่านมา จึงขอให้พี่น้องผู้ประสบภัยมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน
นางนฤมล กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการเงินและสิ่งของที่ได้รับบริจาคนั้น จะดำเนินการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยทุกจังหวัดจะมีคณะกรรมการเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้เงินบริจาคและการจัดส่งสิ่งของถึงมือผู้ประสบภัยอย่างถูกต้องทั่วถึง โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยทำงานอย่างรอบคอบรัดกุม และต้องไม่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตอย่างเด็ดขาด

เปิดหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม


โดยเฟซบุ๊กเพจ "ไทยคู่ฟ้า" ได้แจ้งรายละเอียด หลักเกณฑ์ ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ดังนี้
#ไทยคู่ฟ้า เปิดหลักเกณฑ์ ช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม
#ลำดับเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของพายุโพดุลและคาจิกิ
รัฐบาลโดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนภัยผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 32 จังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนักที่สุดคือ จ.อุบลราชธานีรัฐบาลสั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยแบบเฉพาะหน้าอย่างทั่วถึง และพยายามระบายน้ำออกจากพื้นที่วิกฤตให้ได้มากที่สุดเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร จิตอาสา บูรณาการอพยพผู้ประสบภัย ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดส่งอาหาร น้ำ ยารักษาโรค ระดมเครื่องมืออุปกรณ์ เรือ เข้าช่วยเหลือประชาชนและขนย้ายทรัพย์สิน พร้อมทั้งผลักดันน้ำที่ท่วมขังในทุกรูปแบบ โดยมีอาสาสมัครกู้ภัยเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ จ.พิษณุโลก สุโขทัย ยโสธร อุบลราชธานี และตรวจความพร้อมการบริหารจัดการน้ำภาคใต้ ที่ จ.นครศรีธรรมราชนายกฯ สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายหลังน้ำลด และฟื้นฟูให้กลับสู่ภาวะปกติ พร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีเสียชีวิต บ้านพักอาศัยเสียหาย พื้นที่เกษตรและเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย ฯลฯ อย่างเต็มที่
........................................
#หากใครที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะพบว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาและดูแลประชาชน ที่ผ่านมามีทั้งรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องและทำงานกันอย่างหนักหลายคนอาจจะรู้สึกว่าหน่วยงานราชการทำงานล่าช้าและไม่ทั่วถึง แต่ท่ามกลางสภาพพื้นที่ประสบภัยที่กว้างขวางและมีข้อจำกัด จำนวนผู้เดือดร้อนที่มีมากมาย เจ้าหน้าที่และจิตอาสาต่างทุ่มเท เสียสละ เพื่อประชาชนแบบปิดทองหลังพระนอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยนั้นมีในแผนอยู่แล้วเช่นเดียวกับทุกครั้ง แต่การเบิกจ่ายเงินซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน จำเป็นต้องมีความถูกต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าไม่โปร่งใส และจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องสำรวจและให้ความช่วยเหลือในทุกมิติ เช่น การครองชีพพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร เครื่องมือทำมาหากิน ฯลฯ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงส่วนขณะที่น้ำยังท่วมอยู่จะเน้นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยและดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 กำหนดให้ส่วนราชการมีวงเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 50 ล้านบาท สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด แห่งละ 20 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เกษตร มหาดไทย หน่วยงานละ 50 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสาธารณสุข หน่วยงานละ 10 ล้านบาท เป็นต้นแต่การเบิกจ่ายต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ และใช้อย่างคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน ไม่สูญเปล่า โดยยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ค่าจัดหาสิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยเสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำหลังละไม่เกิน 33,000 บาท /ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่เสียหาย ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท /ค่าเช่าบ้านกรณีบ้านเช่าเสียหายจนอยู่ไม่ได้ ครอบครัวละไม่เกิน 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือนค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ หรือเงินทุนเลี้ยงครอบครัว ครอบครัวละไม่เกิน 11,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บสาหัสและต้องรักษาในสถานพยาบาล 3 วันขึ้นไป 3,000 บาท /ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ 10,000 บาท /ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้เพิ่มอีกได้ไม่เกิน 25,000 บาทเงินช่วยเหลือกรณีพื้นที่เพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายสิ้นเชิง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ ไร่ละ 1,690 บาท /ค่าจ้างขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน หรือซากที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตร ไม่เกิน 5 ไร่ ไร่ละไม่เกิน 7,000 บาทเงินช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล หอยทะเล ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 10,920 บาท /ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน ไม่เกินรายละ 5 ไร่ ไร่ละ 4,225 บาท /สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ ไม่เกินรายละ 80 ตร.ม.ๆ ละ 315 บาทเงินช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย เช่น โค ไม่เกินรายละ 2 ตัว ตัวละไม่เกิน 6,000 - 20,000 บาท /สุกร ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,300 - 3,000 บาท /แพะ ไม่เกินรายละ 10 ตัว ตัวละไม่เกิน 1,000 - 2,000 บาท /ไก่ไข่ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 - 80 บาท /ไก่เนื้อ ไม่เกินรายตัว 1,000 ตัว ตัวละไม่เกิน 20 - 50 บาท เป็นต้นนอกจากนี้ ยังมีเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับบริจาคจากประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 เพิ่มเติมอีก เช่นค่าจัดการศพ กรณีเสียชีวิต รายละ 50,000 บาท /ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลัง รายละไม่เกิน 230,000 บาท /ค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน รายละไม่เกิน 15,000 70,000 บาท เป็นต้นขณะที่สถาบันเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธอส. ธ.ออมสิน ธ.กรุงไทย ธนาคาร SME สำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ยังได้ออกมาตรการให้สินเชื่ออัตราพิเศษ ขยายเวลาชำระหนี้ พักชำระหนี้ ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบภัยอีกด้วยทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยไม่ทอดทิ้งใครแน่นอน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้บางคนจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็จะต้องดูด้วย รวมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ตามกำลังของตนเอง เพื่อให้เราก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
......................
อ้างอิงจาก
1) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562
2) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542
3) หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556
4) หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556

logoline