svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินเก้าอี้ "บิ๊กตู่" วันนี้

18 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

18 ก.ย.นอกจากจะเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในประเด็นการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 161 กำหนด และการไม่แถลงที่มาของรายได้ของนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังต้องจับตาไปที่ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ด้วย

คำร้องดังกล่าวยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร นำโดย ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 101 คน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เวลานั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 89 บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี อันเป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเดียวกับผู้สมัครส.ส.หลายประการ

 

หนึ่งในนั้น คือ มาตรา 98 (15) ซึ่งระบุว่า  "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง...เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ"

 

คดีนี้จึงมีประเด็นสำคัญที่อยู่ที่ตำแหน่งหัวหน้าคสช.มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่

 

ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ถึงองค์ประกอบความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะต้องประกอบด้วย4 เงื่อนไข ได้แก่  1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย  2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย



ขณะที่ พรรคเพื่อไทยยังอ้างอิงถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่3578/2560 แม้คำพิพากษาศาลฎีกาครั้งนี้จะไม่ได้ระบุถึงความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของหัวหน้าคสช.โดยตรง แต่การที่ศาลฎีกาให้ความเห็นว่าคสช.มีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์นั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่าหัวหน้าคสช.ในฐานะผู้ใช้อำนาจในนามของคสช.มีความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญจะให้น้ำหนักกับแนวคำวินิจฉัยความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของคสช.ขององค์กรอื่นอย่างไร โดยเฉพาะกับกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เคยให้ความเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้าคสช.ไม่ได้มีสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

 

"เมื่อพิจารณาถึงสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ..."

 

"ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ" ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

 

แม้ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจจะไม่ได้เด็ดขาดและมีผลผูกพันทุกองค์กร เหมือนกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินถือเป็นองค์แรกที่ให้ความเห็นและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ดำเนินการตามแนวของผู้ตรวจการแผ่นดินในเวลาต่อมา

 

ดังนั้น  หากศาลรัฐธรรมนูญให้น้ำหนักกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้ เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีครบถ้วน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นเป็นอย่างอื่น แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ต้องตกที่นั่งลำบากเนื่องจากกระบวนการเลือกนายกฯยังมีเสียงส.ว.คอยสนับสนุนอยู่ แต่ในทางการเมืองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเสียรังวัดไม่น้อย

logoline