svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตรวจการบ้าน "รมว.อุดมศึกษา"

15 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาล "บิ๊กตู่ 2/1" กำลังจะบริหารประเทศผ่าน 1 สมัยประชุมรัฐสภา หลายคนอาจไม่ทราบว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีรัฐมนตรีกระทรวงใหม่กระทรวงหนึ่งด้วย คือ "กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม" ซึ่งผลักดันผ่านเป็นกฎหมายช่วงปลายรัฐบาล คสช. แต่ผ่านมา 3 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงใหม่กระทรวงนี้ และรัฐมนตรีที่นั่งว่าการ กำลังจะกลายเป็นกระทรวงโลกลืม

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแทบไม่มีข่าวกระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นข่าวใหญ่บนหน้าสื่อกระแสหลักเลยทั้งๆ ที่ปัญหาการศึกษาบ้านเรากำลังวิกฤติอย่างหนัก โดยในรัฐบาล คสช.มีการใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งหัวหน้า คสช.หลายฉบับเพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา และปัญหาการบริหารงานภายในโดยเฉพาะตำแหน่งอธิการบดี และสภามหาวิทยาลัย มีการส่งคณะกรรมการเข้ายึดอำนาจมหาวิทยาลัยของรัฐ5 แห่ง แต่ปัญหาธรรมาภิบาลก็ยังค้างคา ไม่สะเด็ดน้ำ ขณะที่ปัญหาการบริหารในสถาบันอุดมศึกษาก็ยังมีประเด็นขัดแย้งเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมีอายุเกิน60 ปีได้หรือไม่ และรักษาการอธิการบดีควรอยู่ในตำแหน่งได้นานเท่าไหร่เรียกว่ายิ่งแก้โดยใช้อำนาจพิเศษยิ่งกลายเป็นงูกินหาง

นอกจากนั้นยังมีปัญหา "พนักงานมหาวิทยาลัย" หรือ"พ.ม." ที่บรรจุแทนตำแหน่งข้าราชการมานานร่วม 20 ปีและปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนคนทั้งสายผู้สอน และสายสนับสนุน /แต่พวกเขากลับได้เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำกว่าที่มติ ครม.กำหนดเอาไว้ ขณะเดียวกันอาจารย์ในกลุ่ม"ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา"ก็มีปัญหาเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือน /เพราะอัตราเงินเดือนต่ำกว่าข้าราชการครูในสังกัดอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาฯด้วย

ว่าที่ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือทปสท. ดอกเตอร์ เชษฐา ทรัพย์เย็น ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ48 แห่งทั่วประเทศ บอกกับ "เนชั่น" ว่า ช่วง 2-3 เดือนแรกของรัฐบาลใหม่มีความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาในวงการอุดมศึกษาน้อยมาก และท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯดอกเตอร์ สุวิทย์ เมษิณทรีย์ ก็ให้ความสำคัญเฉพาะกับกลุ่มอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมตัวกันเป็น "ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย"หรือ ทปอ.เท่านั้น แต่ไม่เคยพบปะหรือรับฟังความเห็นจาก ทปสท.ซึ่งเป็นตัวแทนของคณาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศเลย

"ปัญหาที่ผ่านมาตลอด 3 เดือนก็คือความเสมอภาคในการรับฟังข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯมันไม่มีความสมมาตรของข้อมูล เพราะท่านรัฐมนตรีฟังแต่ข้อมูลข้างเดียวเนื่องจากเวลาผู้บริหารกระทรวงฯ จะทำการรับฟังข้อมูลอะไรก็จะเน้นไปแต่กลุ่มอธิการบดีซึ่งกลุ่มนี้จะมีที่ประชุมของเขา คือ ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย)ทั้งๆ ที่กลุ่มผู้บริหารกลุ่มนี้มีปริมาณไม่ถึง 1เปอร์เซนต์ของบุคลากรมหาวิทยาลัยทั้งหมดเกือบ 2 แสนคน"



"ที่ผ่านมาตลอด 3 เดือน พวกเราไม่เคยถูกเชิญหรือรับฟังความคิดเห็นพวกเราเลยแต่กลับไปฟังข้อมูลเพียงแค่ปีกเดียว คล้ายกับตราชั่งมันเอียงซึ่งทางสภาคณาจารย์และข้าราชการฯ ก็เริ่มพูดกันว่ากระทรวงอุดมศึกษาฯเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มอธิการบดีเพียงแค่ไม่ถึง 1เปอร์เซ็นต์ แล้วไม่สนใจบุคลากรอีกกว่า 2 แสนคนเลย มีข้อครหาว่า กระทรวงกระทรวงอุดมศึกษาฯกำลังถูกครอบงำหรือไม่ ซึ่งผมมองว่าหากยังเป็นแบบนี้จะทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายจะผิดอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะการข้อมูลไม่รอบด้าน"

ว่าที่ประธาน ทปสท. ยังบอกด้วยว่าปัจจุบันทิศทางการบริหารบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษากำลังเปลี่ยนแปลงไป พนักงานมหาวิทยาลัยกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่มีจำนวนมากกว่า 1 แสนคน แต่กลับไม่มีกฎหมายใดรองรับหรือดูแลพวกเขาเลยซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุดมศึกษาฯ ต้องเร่งจัดการ

"ตลอดระยะเวลากว่า19 ปีที่ผ่านมา พนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ไม่มีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติใดๆเข้ามาดูแลอย่างชัดเจนเลยก็ขอให้ทางกระทรวงกลับมาช่วยแก้ไขปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมหากมีนโยบายตั้งกระทรวงใหม่ ก็เหมือนกับการเปลี่ยนบ้านใหม่ แต่ใต้บ้านใต้พรมกลับเต็มไปด้วยขยะ ก็ต้องแก้ไขปัญหาให้จบสิ้นไป"

หลังจากนี้คาดว่าภารกิจของกระทรวงอุดมศึกษาฯจะถููกตรวจสอบมากขึ้นจากหลายฝ่าย เพราะปัญหาธรรมาภิบาลวิกฤติจริงๆอย่างเมื่อวันพุธที่ผ่านมาก็เพิ่งมีการยื่นกระทู้สดจาก ส.ส. ถามรัฐมนตรีอุดมศึกษาเกี่ยวกับปัญหาธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยนครพนม และนับแต่นี้น่าจะมีความเคลื่อนไหวด้านอื่นๆตามมาอีก

logoline