svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

5​ สิ่งที่ไม่เห็นในน้ำท่วมอุบล​ฯ

15 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้วันนี้ดูเหมือนว่าสังคมจะให้ความสนใจกับน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีมากขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งอื่นๆแล้ว ยังมีข้อสังเกต 5 ประการ ที่เราอาจจะไม่ได้เห็น ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลฯ ในช่วงที่ผ่านๆมา

นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม หลายจังหวัดในภาคอีสานได้รับผลกระทบจากพายุ 'โพดุล' และ 'คาจิกิ' ที่พัดเข้ามาหลังฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก

น้ำที่ท่วมไล่ลงมาจากจังหวัดภาคอีสานตอนบน ผ่านแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล มาบรรจบกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ที่นี่กลายเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่และได้รับผลกระทบหนักกว่าจังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน

ในรอบ 40 ปี จ.อุบลราชธานี เจอน้ำท่วมมาแล้ว 6 ครั้ง นี่คือระดับน้ำที่วัดจากสะพานเสรีประชาธิปไตย...

พ.ศ. 2521 : ระดับน้ำสูง 12.76 เมตร
พ.ศ. 2545 : ระดับน้ำสูง 10.77 เมตร
พ.ศ. 2554 : ระดับน้ำสูง 9.81 เมตร
พ.ศ. 2555 : ระดับน้ำสูง 7.62 เมตร
พ.ศ. 2556 : ระดับน้ำสูง 9.20 เมตร
พ.ศ. 2562 : ระดับน้ำสูง 10.95 เมตร

ก่อนหน้านี้ 'วชิรวิทย์รายวัน' เคยเขียนไปแล้วถึงข้อสังเกตของทุกคนใน Social Media ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำท่วมอุบลครั้งใหญ่ครั้งนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจ สังคมดูไม่ค่อยตื่นตัวเมื่อเทียบกับภัยพิบัติครั้งอื่น

แม้วันนี้ดูเหมือนว่าสังคมจะให้ความสนใจกับน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีมากขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งอื่นๆแล้ว ยังมีข้อสังเกต 5 ประการ ที่เราอาจจะไม่ได้เห็น ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลฯ ในช่วงที่ผ่านๆมา

1. สถานีโทรทัศน์ ไม่มีการจัดรายการพิเศษใดๆ

ตามปกติแล้ว ภัยพิบัติธรรมน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้ง แผ่นดินไหว แต่ละครั้งสถานีโทรทัศน์จะมีการจัดรายการพิเศษเพื่อเกาะติดสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่นพายุปลาบึกที่พัดถล่มภาคใต้คราวก่อน ก็มีการล้มผังเพื่อจัดรายการพิเศษ หรือ น้ำท่วมเพชรบุรีที่มีการเกาะติดอย่างใกล้ชิดนับถอยหลังน้ำล้นจากเขื่อนแก่งกระจานกันเลยทีเดียว

รายการพิเศษ จะอัดแน่นไปด้วยนักข่าวในพื้นที่รายงานสดสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะ ในสตูดิโอมีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเปิดสายให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนโทรมาขอความช่วยเหลือสดๆในรายการ แต่รอบนี้เราไม่เห็น

2. ไม่เห็นข้อมูลข่าวสารเชิงลึกเมื่อเที่ยบกับภัยพิบัติครั้งอื่นๆ

แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็มีน้อยมาก สำหรับข้อมูลข่าวสารเชิงลึกเกี่ยวกับน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี หรือข้อมูลที่คนที่ประสบภัยพิบัติควรรู้ ย้อนกลับไปในภัยพิบัติครั้งอื่นๆ เราจะได้เห็นผู้ประกาศยืนอยู่หน้าจอทีวีขนาดยักษ์เพื่อชี้ให้เห็นถึงทิศทางของน้ำ และแนวโน้มที่จะลดลงในแต่ละวันอย่างเข้าใจง่าย หรือแม้กระทั่งการบอกถึงข้อมูลจำเป็นเช่นเส้นทางหลีกเลี่ยงน้ำท่วม วิธีการเอาตังรอด การปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับภัยพิบัติ มีการปูพื้น ถึงที่มาของสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ และข้อมูลเชิงวิชาการในระดับที่ลงลึกกว่าแค่ปรากฏการณ์ทั่วไป ก็เห็นได้น้อยจากปรากฏการณ์ข่าวน้ำท่วมอุบลฯครั้งนี้

การรายงานในเชิงลึกอาจรวมไปถึงแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะยาว โครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ก็จะมีเพียงแต่การอนุมัติงบประมาณ แต่ไม่ไม่เห็นถึงเส้นทางของโครงการที่จะจัดการน้ำในอนาคต ไม่เห็นถึงข้อเสนอต่างๆของภาคประชาชนว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ รัฐควรนำมาปรับใช้อย่างไร

3. ไม่เห็นนายกฯไปอุบล

ในวันที่ระดับน้ำถึงจุดสูงสุดในจังหวัดอุบลราชธานี เราได้เห็นนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไปอนุมัติโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้เห็นภาพการเข้าครัวทำใบเหลียงผัดไข่ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. จังหวะเวลาเช่นนี้กับการลงพื้นที่แบบนี้ปฏเสธไม่ได้ว่า สามารถตีความออกไปได้หลากหลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอีสาน ก็จะตั้งคำถามว่าท่ามกลางวิกฤต ผู้นำของประเทศได้แสดงความจริงใจในการเหลียวแลพวกเขามากน้อยเพียงใด

4. ไม่เห็นนายกฯ มารับสายโทรศัพท์รับบริจาค

ช่องทางการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมอุบลฯ ที่ผ่านภาครัฐเป็นตัวกลางรับบริจาคที่น่าเชื่อถือที่สุด แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่า ที่ผู้ที่เสพข่าวสารอย่างเราๆ ไม่อยากจะบริจาคเงินผ่านช่องทางหลักช่องทางนี้

เห็นได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ซับซ้อนหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัด บอกว่าจะต้องทำเบิกงบที่ได้รับบริจาคมาทางสำนักนายกรัฐมนตรี

ย้อนกลับไปดูครั้งก่อนเราได้เห็นนายกรัฐมนตรีลงมารับสายโทรศัพท์รับบริจาคจากพี่น้องประชาชนด้วยตัวเองอาจเป็นเพราะว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นหลายเรื่องจึงทำให้การลำดับความสำคัญของปัญหาต้องกระจายกันไปเมื่อมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน

แต่อย่างไรก็ตามเรายังได้เห็นการให้ความช่วยเหลือกันของ ภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทมากกว่าภาครัฐ ที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนอย่างแข็งขันและจริงใจ

5. ไม่เห็นหน่วยงานรัฐตื่นตัวเรื่องการฟื้นฟู ชดเชย

จากการคาดการณ์หลายฝ่ายคาดว่า จังหวัดอุบลฯ อาจต้องใช้เวลา 1 เดือน กว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำท่วมที่กินเวลานานหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง โดยในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นมากมายทั้งเลือกสวนไร่นา พืชผลอาสิน รวมไปถึงปศุสัตว์ต่างๆเช่นวัว ควาย จมหายตายไป เหล่านี้ยังไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจน

จริงอยู่ว่าหลักเกณฑ์ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติ มีอยู่ในระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ความตื่นตัว มีโครงการช่วยเหลือพิเศษเข้าไปฟื้นฟูหมู่บ้าน ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน

นี่ยังไม่รวมถึงโรงเรียนต่างๆที่ได้รับผลกระทบ อุปกรณ์การเรียนการสอนเสียหาย จมน้ำ ยังไม่เห็นกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาประเมินความเสียหายว่าจะต้องซื้อสิ่งใด ทดแทน และ แผนการสอนชดเชยเด็กๆที่ ติดน้ำท่วมไม่สามารถออกมาโรงเรียนได้

มาตรการต่างๆเหล่านี้ มีความเข้มข้นน้อยกว่าภัยพิบัติ ที่ใหญ่พอๆกันในครั้งที่ผ่านๆมา เท่าที่ผมเคยเห็น ทั้งหมดนี้ เป็นข้อสังเกตของผมในฐานะผู้ติดตามข่าวสาร หากความช่วยเหลือได้มีลงไปอย่างที่กล่าวแล้ว ก็ต้องขออภัยใน ณ ที่นี้ และขอชื่นชมผู้ที่ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของอีสานในครั้งนี้

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #NationTV #Nation

logoline