svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'กุยบุรี' ติดตั้ง​ระบบเตือนภัยช้างป่า​แห่งแรก​

14 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รมว.ทส. ลุยแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชน ร่วมกับกลุ่มทรู เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburis Elephant Smart Early Warning System) ร่วมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู นางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย ผู้แทนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี วันที่ 14 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

'กุยบุรี' ติดตั้ง​ระบบเตือนภัยช้างป่า​แห่งแรก​



นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า "การจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้น้อมนำอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9 ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ว่า "ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆและกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า" กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้ปัญหาได้คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว และต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯและกลุ่มทรู ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือตามโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ซึ่งได้ตระหนักว่า พื้นที่ชายป่ารอยต่อระหว่างเขตอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ดังนั้น ในการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงนำความรู้ของทั้ง 2 หน่วยงาน มาร่วมกันแก้ปัญหา โดยการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบทันทีทันใด (real time) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อจะได้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองช้างป่าในพื้นที่ และจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆด้วย"

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู กล่าวว่า สำหรับการทำงานของระบบ Elephant Smart Early Warning System จะติดตั้ง Camera trap พร้อม SIM และ SD Card บริเวณด่านที่ช้างออก รวม 25 ด่าน เมื่อช้าง หรือวัตถุใดๆ เคลื่อนไหวผ่าน กล้องจะทำการบันทึก และส่งภาพไปยังระบบ Cloud โดยเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ (Control Room) จะทำการ screen และส่งภาพเข้ามือถือผ่าน e-Mail ของเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้ง เตือนให้ดำเนินการผลักดันช้างเข้าพื้นที่ป่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างได้รับแจ้งการผลักดันช้าง ผ่าน Application Smart Adventure หลังจากผลักดันช้างสำเร็จจะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ อาทิ พิกัดด่านที่ช้างออก จำนวนช้าง เวลา ความเสียหาย เป็นต้น โดยระบบ Cloud จะทำการประมวลผล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่อไป

ทางด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย โดยนางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า "อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยเจ้าหน้าที่ของ WWF ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ทำงานทั้งด้านงานวิจัยด้วยการศึกษาจำนวนประชากรช้างป่าและพฤติกรรม มีการปรับปรุงแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย สนับสนุนการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ และการสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน"

'กุยบุรี' ติดตั้ง​ระบบเตือนภัยช้างป่า​แห่งแรก​



"การทำงานร่วมกับกลุ่มทรูฯ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการทำงานเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างในพื้นที่ และช่วยให้ชาวบ้านมีทัศนะคติที่ดีต่อช้างป่า ทำให้คนกับช้างอยูร่วมกันได้"

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า "ทั้งนี้ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ บริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรจำนวน 25 จุด เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลผ่านศูนย์ฯดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันเข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่ากลับคืนเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก่อนที่ช้างป่าจะออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรได้อย่างทันท่วงที และจากการรายงานในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 10 เดือน พบว่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติดังกล่าว สามารถบันทึกภาพช้างป่า จำนวน 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ได้พบช้างป่าบางแห่งได้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร เพียงจำนวน 27 ครั้ง เท่านั้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่เฝ้าระวังช้างป่าก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติในช่วงเวลาเดียวกัน (พ.ย.60 ส.ค.61) พบว่าช้างป่าได้ออกมา ทำลายพืชผล ทางการเกษตรของราษฎร จำนวน 628 ครั้ง และพบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จำนวน 217 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่าได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก"

"อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งที่พบสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมถึงช้างป่าและเสือโคร่ง ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลก จึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมกันนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ กลยุทธ์และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง"นายธัญญา กล่าวทิ้งท้าย

logoline