svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'ฟองน้ำขนาดใหญ่'​ ที่หายไป​ ต้นเหตุน้ำท่วมหนัก-แล้งจัด

14 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ป่ามีกลไกป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นกลไกที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมาก เปรียบเสมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ที่คอยซับน้ำไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงมา เห็นได้ว่า ต้นไม้ คือกลไกสำคัญที่เป็นตัวกั้นการไหลของน้ำให้ช้าลง และต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำ

น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดอีสาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนัก ทำให้เกิดคำถามว่า ภัยธรรมชาติที่ปั่นป่วนเกิดจากอะไร นอกจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง และลมพายุที่รุนแรงมากขึ้น แล้ว ยังมีปัจจัยซ้ำเติมที่หลายคนยังไม่ทันได้คิด

น้ำท่วมภาคอีสานแม้จะเป็นเรื่องที่คนเมืองอาจไม่ตื่นตัว แต่คนอีสานที่เข้ามาทำงานในเมืองที่ได้คุยด้วยต่างเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยพบเห็นน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้มาก่อน บางอำเภอที่ไม่เคยน้ำท่วม ก็ท่วมหนัก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้แล้งจัด

และอีกข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่น่าสนใจคือ.. คนในพื้นที่รู้ดีว่า 'ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์' ถูกแทนที่ด้วย 'ป่ายางพารา และไร่มันต่างๆ' เมื่อไม่มีป่าคอยซับน้ำอย่างในอดีต เวลาแล้งจึงแล้งหนัก ฝนตกอย่างหนักน้ำก็ไหลบ่าลงมาหมด

ความคิดเห็นของชาวบ้าน ที่ว่าพื้นที่ป่าหายไปเป็นเหตุให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่แก้ไม่รู้จบนั้น สอดคล้องกับความจริงตามหลักวิชาการ

'ฟองน้ำขนาดใหญ่'​ ที่หายไป​ ต้นเหตุน้ำท่วมหนัก-แล้งจัด



ส่วนหนึ่งจากบทความของ นางสาวมะลิวรรณ นามขันธ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า 'ป่ามีกลไกป้องกันน้ำท่วม' ซึ่งเป็นกลไกที่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพมาก สังเกตได้จากเวลาฝนตกหนักในป่าที่อุดมสมบูรณ์แต่น้ำกลับไม่เคยท่วม ซึ่งแตกต่างจากในเมืองที่ตกเพียงไม่กี่วันหรือบางครั้งไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังแล้ว

'ป่าเปรียบเสมือนฟองน้ำขนาดใหญ่ที่คอยซับน้ำไว้ไม่ให้ไหลบ่าลงมาท่วม' เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ และกล่าวต่อไปถึง ระบบการป้องกันน้ำท่วมของป่า ตามภาพนี้..

(A) ฝนที่ตกลงมาในผืนป่าจะผ่านชั้นเรือนยอดของต้นไม้ ใบไม้ที่ถูกเม็ดฝนกระทบจะช่วยลดแรงของเม็ดฝนก่อนที่จะตกลงสู่พื้นดิน ป้องกันดินอัดตัวกันแน่นเป็นการช่วยให้น้ำซึมผ่านดินได้ดีขึ้น

(B) กิ่งไม้และลำต้นจะช่วยชะลอการไหลของน้ำในแนวดิ่ง

(C) รากของต้นไม้ที่แตกแขนงไปตามพื้นดินจะช่วยสกัดน้ำที่ไหลมาจากทางอื่นให้ไหลช้าลงเพื่อจะมีเวลาซึมลงดินได้นานขึ้น

(D) เศษซากใบไม้จะช่วยขวางการไหลและชะลอน้ำไม่ให้ไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ด้านล่าง

(E) อินทรียวัตถุจากการย่อยสลายของต้นไม้ จะช่วยปรับโครงสร้างของดินให้มีรูพรุน ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น

เห็นได้ว่า 'ต้นไม้' คือกลไกสำคัญที่เป็นตัวกั้นการไหลของน้ำให้ช้าลง และต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำให้คงอยู่ได้ ส่วนจะนานเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับว่าผืนดินบริเวณนั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่นหรือไม่ และปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยซับน้ำนั่นก็คือดิน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญ เริ่มจากการวิเคราะห์ทางไหลบ่าของน้ำจากเหตุการณ์นี้ ว่ามาจากไหน แล้วผืนป่าต้นน้ำแถบนั้นถูกทำลายไปแล้วจริงหรือไม่

แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าการแก้ปัญหาป่าไม้ จะกลายเป็น 'งูกินหาง' ที่ไปกระทบกับปัญหาที่ที่ทำกินของกลุ่มคนยากไร้ อีกเคยเช่น จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม และทำข้อมูลตามความจริง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #vajiravit #vajiravitdairy #Nation #NationTV

logoline