svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม

12 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เว็ปไซต์ ฐานเศรษฐกิจ ได้รายงานถึงสภาวะการปรับตัวของ "ตลาดเครื่องดื่ม" ที่เตรียมกลยุทธ์ในการรับมือ กับ "ภาษีความหวาน" หลังสรรพสามิตประกาศจัดเก็บภาษีความหวานจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ตามแผนการปรับโครงสร้างภาษี

ซึ่งนับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวานตามพ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จะดีเดย์บังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป หลังจากที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการปรับตัว ปรับสูตรลดปริมาณความหวานลงให้เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อไม่ต้องรับภาระภาษีเพิ่มตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
ผลที่เกิดขึ้นจึงเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ดาหน้าเกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก แทบจะเดือนต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นสินค้าในหมวดเครื่องดื่ม และเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้อย แต่เครื่องดื่มเหล่านั้น กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดี มียอดขายที่สูง ด้วยเหตุผลเพราะ คนไทยยังติดรสหวาน

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม

ผู้บริหารเครื่องดื่มน้ำดำรายหนึ่งกล่าวยอมรับว่า น้ำดำสูตรหวานน้อย ไม่เป็นที่นิยมของคนไทย
แม้จะมุมานะสร้างการรับรู้ถึงสูตรใหม่ รสชาติใหม่ "หวานน้อย" ที่ดีต่อสุขภาพอย่างหนัก แต่ผลตอบรับก็ยังไม่เติบโตตามที่คาดหวัง

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม


ขณะที่ "น้ำผลไม้" ที่งานนี้ก็โดนหางเลขไปด้วย เพราะมีปริมาณความหวานสูงไม่ต่างกัน ต่างก็เร่งปรับตัว แม้ที่ผ่านมาจะไม่ใส่น้ำตาลในปริมาณที่สูง แต่ด้วยความหวานจากธรรมชาติก็มีปริมาณสูงอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึง "น้ำหวาน" ล้วนๆ ที่งานนี้เจ๊กอั๊ก!! เต็มๆ

แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายก็ไม่สะทกสะท้าน เมื่อต้องควักจ่ายภาษีมากขึ้น ก็เดินหน้าขึ้นราคาซะเลย!!
วัดกันเห็นๆ ว่า "ถ้ากล้าขึ้น ก็กล้าซื้อ" หรือ "ใครจะอยู่ ใครจะไป!"

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม

เห็นได้จากเบอร์ 1 ในตลาดน้ำหวานอย่าง "เฮลล์บลูบอย" ที่ประกาศลั่นแบบ โนสน โนแคร์ เดินหน้าขึ้นราคาแบบชิล ชิล แค่ขวดละ 10 บาท ใครรักกันจริง ชื่นชอบกันจัง ควักจ่ายได้สบายๆ

แถมงานนี้เอ่ยปากลั่นห้าม "ยี่ปั๊ว" ตุนสินค้า หากออเดอร์มากผิดปกติ จะตัดลดสินค้าลง

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม

ส่วน "Pepsi" ก็ไม่หวั่น ออกมายอมรับว่า ปรับขึ้นราคาไปล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่เป็นสูตรออริจินัล ส่วนวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะปรับขึ้นอีกระลอกหรือไม่ คงต้องจับตาดูต่อไป
เพราะ การปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มหลายประเภทสามารถกระทำได้เลย เพราะไม่ใช่สินค้าควบคุม ขณะที่สินค้าอีกหลายประเภทแม้จะเป็นสินค้าควบคุม แต่ก็ยังสามารถขยับราคาให้สูงขึ้นได้ เพราะยังไม่ชนเพดาน งานนี้จึงต้องจับตาดูทั้งกาแฟพร้อมดื่ม ชาพร้อมดื่ม นมข้นหวาน ครีมเทียม ฯลฯที่พลาดไม่ได้ ก็ต้องจับตาดูเงินในกระเป๋าเราๆ นี่แหละ เพราะเดิม 100 บาท อาจจะซื้อได้ทั้งกาแฟ นมข้นหวานพร้อมน้ำแข็ง แต่อนาคตอาจจะซื้อได้ไม่ครบเครื่องอย่างต้องการ

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม


ล่าสุดรองโฆษกกรมสรรพสามิต "ณัฐกร อุเทนสุต" ออกโรงยืนยันเองว่า อัตราภาษีน้ำหวานใหม่จะเริ่มมีผล 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป โดยยึดหลักที่ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการลดการใช้น้ำตาล เพื่อสุขภาพของประชาชน ส่วนผลงาน 1 ปีเศษที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณความหวานลดลงมากนัก แต่โลโก้สุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมความหวาน ปรับเพิ่ม 200-300 รายการจากเดิมที่มีอยู่ 60-70 รายการ โดยกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นกว่า 200%

แต่ไม่ว่าจะขายดีหรือไม่อย่างไร กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เนาะๆ เพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้จากภาษีน้ำหวานรวมทั้งสิ้น 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่เก็บได้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

จากภาพรวมของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีทั้งสิ้น 5.84 แสนล้านบาท และปี 2563 ที่ 6.4 แสนล้านบาท

ขณะที่ผลการสำรวจที่สรรพากรร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นพบว่า การออกมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ มีผลจูงใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องดื่มปรับตัว ลดปริมาณความหวานลงค่อนข้างมาก มีการเพิ่มเครื่องหมายเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200% ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต่ำกว่า 30 ปี ให้ความสนใจในมาตรการภาษีความหวาน แต่วัยทำงานที่มีอายุ 30-60 ปี ยังให้ความสนใจน้อย

แม้การออกมาป่าวประกาศว่าการจัดเก็บภาษีน้ำหวานเพราะห่วงใยในสุขภาพของประชาชนคนไทย ที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ตามมา แต่ในอีกมุมหนึ่งเงินที่จัดเก็บได้ ก็จะตกไปอยู่ในคลังกลายเป็นเงินหมุนเวียนใช้จ่าย

"ภาษีน้ำหวาน" โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่ม


ส่วนในภาคของธุรกิจ บริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนมองว่าทิศทางของตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จะเปลี่ยนไปสู่เทรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน ทั้ง ไลน์สินค้าใหม่สูตรหวานน้อย สินค้าเดิมแต่ปรับสูตร หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบ 100% แต่ทว่าในแง่ของการดำเนินธุรกิจยังมีอีกหนึ่ง "ตัวแปร" สำคัญคือเรื่องของ "อินไซต์ผู้บริโภค"

ที่หลายผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ต่างให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า แม้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะเป็นกระแสที่มาแรง แต่ในแง่ของยอดขายและความนิยม "สูตรดั้งเดิม" ยังกินขาด ส่วนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนั้น ต้องค่อยๆสร้างฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งคาดว่าต้องกินเวลานานกว่า 2 ปี ในการสร้างความคุ้นเคยและชื่นชอบ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันของตลาดก็ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยมี การลด แลก แจก ชิงโชคเข้ามาเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้และยอดขายพุ่งไปข้างหน้า

ที่ผ่านมา เครื่องดื่มสูตรดั้งเดิมใช้เวลานานนับ 10 ปี บางรายใช้มากกว่า 30 ปีกว่าจะแจ้งเกิดหรือสยายปีกในเอเชีย

หากจะมาคาดหวังกับเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยก็จำเป็นต้องใช้เวลา เงินทอง และกลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาช่วยในการสร้างฐานที่มั่น และก่อร่างสร้างการเติบใหญ่เช่นกัน

logoline