svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กระทรวงคมนาคมเร่งหามาตรการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน

12 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงคมนาคม ผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน เร่งระดมความคิดเห็นเพื่อหามาตรการพัฒนา ความปลอดภัยทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ให้ทันต่อสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "ทันสถานการณ์ เพื่อการคมนาคมปลอดภัย" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2562 ณ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนจากหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว จำนวนประมาณ 100 คน

กระทรวงคมนาคมเร่งหามาตรการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน


นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้รายงาน GLOBAL STATUS ON ROAD SAFETY 2018 ว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ในปี พ.ศ. ๒๕๕9 คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 32.7 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ประเทศเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมี ๓ ปัจจัย ได้แก่ 1) ความผิดพลาดของผู้ขับขี่ 2) ความบกพร่องของยานพาหนะ และ 3) ความบกพร่องของถนนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจัยด้านผู้ขับขี่เป็นสาเหตุหลักสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งนี้ พฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ประกอบด้วย

กระทรวงคมนาคมเร่งหามาตรการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน

1. การใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด พบว่าในปี 2560 มักจะฝ่าฝืนขับขี่บนทางหลวงแผ่นดิน บนถนนในพื้นที่เขตนอกเมือง ด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ร้อยละ 53 สำหรับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) มีการใช้ความเร็วเกินกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในร้อยละ 4
2. เมาแล้วขับ พบว่า ประเทศไทยมีปัญหาอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยสัดส่วนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรเกิดจากการดื่มแล้วขับ ในภาพรวมจากร้อยละ 45 ในปี 2548 ลดลงเหลือร้อยละ 30 ในปี 2560
3. ง่วงแล้วขับ จากข้อมูลคดีอุบัติเหตุของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีคดีอุบัติเหตุจราจรจากการหลับในมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2551 มีจำนวน 304 คดี ในปี 2560 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 907 คดี
4. การสวมหมวกนิรภัย โดยการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยในปี 2553 มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยในภาพรวม (รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร) ร้อยละ 44 สำหรับในปี 2561 มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยในภาพรวมทั้งประเทศ (รวมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร) อยู่ที่ร้อยละ 45 หากจำแนกตามที่นั่ง พบว่า เฉพาะผู้ขับขี่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 52 ส่วนผู้โดยสารมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 22
5. การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ จากการสำรวจโดยมูลนิธิไทยโรดส์ ในปี 2561 พบว่า ร้อยละ 88 ของผู้ขับขี่เคยใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้ สนข. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการเสนอแนะนโยบายและแผนด้านการขนส่งและจราจร จัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "ทันสถานการณ์ เพื่อการคมนาคมปลอดภัย" ขึ้นในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมต่อภารกิจด้านความปลอดภัยทางถนนและรับฟังความเห็นเชิงวิชาการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ และระดมความคิด แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนในสังกัดกระทรวงคมนาคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต่อสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน และแนวทางการบรรเทาหรือลดผลกระทบของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ตลอดจนการถอดบทสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบการเสนอแนะแนวทางและมาตรการพัฒนาความปลอดภัยทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ให้ทันต่อสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในปัจจุบัน ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป


สำหรับการประชุมทางวิชาการฯ ดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการอภิปราย และระดมความคิด รวมทั้งแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในประเด็นหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ปัจจัยด้าน "คน" โดยร่วมกันหาแนวทางการปรับปรุงมาตรการ กฎหมาย และข้อบังคับเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องความผิดพลาดของผู้ขับขี่ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงบนถนนขณะขับขี่ อาทิ การกำหนดอัตราความเร็วของรถ การควบคุมชั่วโมงการทำงานของผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ มาตรการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่และความประมาท การใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารสาธารณะ ๒) ปัจจัยด้าน "ยานพาหนะ" โดยร่วมกันหาแนวทางการปรับปรุงมาตรการ กฎหมาย และข้อบังคับเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของยานพาหนะที่ให้บริการในระบบขนส่งทางถนนและยานพาหนะที่ใช้ขับขี่ อาทิ ระบบห้ามล้อ ระบบไฟฟ้า ระบบล้อและเพลา ระบบพวงมาลัย ระบบคันส่งคันชัก สภาพยางรถ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ ตลอดจนแนวทางควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ และ ๓) ปัจจัยด้าน "ถนนและสภาพแวดล้อม" โดยร่วมกันหาแนวทางการปรับปรุงมาตรการ กฎหมาย และข้อบังคับเพื่อสร้างความปลอดภัยบนถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัย เช่น การป้องกันถนนลื่น การแก้ไขจุดเสี่ยงจุดอันตราย (Black Spot) สัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทาง รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย

นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวตอนท้ายว่า การประชุมทางวิชาการในหัวข้อ "ทันสถานการณ์ เพื่อการคมนาคมปลอดภัย" ที่ สนข. จัดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการระดมความคิด รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เพื่อถอดบทสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบการเสนอแนะแนวทางและมาตรการพัฒนาความปลอดภัยทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดแนวทางในการการพัฒนาความปลอดภัยบนถนน การพัฒนาคุณภาพการให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งสามารถใช้เป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมตามภารกิจต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน ส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในปัจจุบัน แก่ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางถนน ให้เกิดการยอมรับและเกิดการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

logoline