svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผยเด็กไทย 1 ใน 5 เผชิญความยากจน "ปัตตานี" สูงสุดใน 14 จังหวัดกลุ่มพิเศษ

12 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลการศึกษาด้านความยากจนหลายมิติของเด็ก โดยสภาพัฒน์ ร่วมกับ องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย พบว่า เด็กไทย 1 ใน 5 หรือ 21.5% กำลังเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนความยากจนหลายมิติของเด็กสูงสุดโดย... -ปาริชาติ บุญเอก [email protected] -

เมื่อวันที่ 11 กันยายน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย แถลงผลการศึกษาล่าสุดด้านความยากจนหลายมิติของเด็ก โดยใช้ดัชนีชี้วัดความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child Multidimensional Poverty Index หรือ Child MPI) ได้รับการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Intiative - OPHI)


          4 ดัชนีชี้วัดความยากจนของเด็ก
          การศึกษาดังกล่าว ใช้ข้อมูลของเด็กอายุระหว่าง 0-17 ปี จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICS) ปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากการสัมภาษณ์ครัวเรือนมากกว่า 28,652 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยมีผู้หญิงที่อายุระหว่าง 15-49 ปี จำนวน 25,614 คน ผู้ชายอายุระหว่าง 15-49 ปี จำนวน 23,183 คน และมีเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ จำนวน 12,250 คน  (สัมภาษณ์แม่หรือผู้ดูแล) เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถจัดสรรทรัพยากรและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเสริมสร้างและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการเสริมสร้างทุนทางมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ และขจัดความยากจนในทุกมิติ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผ่าน 4 ดัชนีชี้วัดความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child-MPI) นอกเหนือจากด้านการเงิน โดยดูที่ความจำเป็นตามบริบทของประเทศไทย ได้แก่ ด้านการศึกษา คือ การได้เรียนรู้ การเข้าเรียน ด้านสุขภาพ คือ โภชนาการ การป้องกันสุขภาพ ด้านมาตรฐานการดำรงชีวิต ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด คือ สภาพบ้านเรือน เชื้อเพลงการทำอาหาร การถือครองทรัพย์สิน บัญชีธนาคาร และน้ำดื่มที่สะอาด และ ด้านสวัสดิภาพเด็ก คือ การคุ้มครองเด็ก สภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมในครอบครัว ความรุนแรง

เผยเด็กไทย 1 ใน 5 เผชิญความยากจน "ปัตตานี" สูงสุดใน 14 จังหวัดกลุ่มพิเศษ



          จินางค์กูร โรจนนันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒน์ กล่าวในงานนำเสนอผลการศึกษาความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศไทย ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร ว่า ปัจจุบันการพัฒนาและยกระดับคน วัดด้วยมิติด้านการเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 ได้กล่าวถึงการขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ดังนั้น ความยากจนมีมิติอื่นๆ ที่เป็นข้อจำกัด และไม่ได้เป็นเพียงการมองภาพรวมของประเทศ แต่ต้องมองลงไประดับพื้นที่

เผยเด็กไทย 1 ใน 5 เผชิญความยากจน "ปัตตานี" สูงสุดใน 14 จังหวัดกลุ่มพิเศษ


          "ทิศทางต่อไปการพัฒนาประเทศไม่ใช่การมองมิติตัวเงิน ต้องมีมิติอื่นๆ เพื่อกำหนดนโนบายและมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในภารกิจของสภาพัฒน์ เพราะเราได้มีการติดตามเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด ที่ผ่านมา ยูนิเซฟ ได้ส่งทีมมาทำงานร่วมกับสภาพัฒน์ พูดคุยเกี่ยวกับบริบทของไทย โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาฯ ช่วยกันชี้เป้าว่ามิติใดบ้างที่สำคัญในการพัฒนาเด็ก และอะไรคือสิ่งที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เด็กเข้าถึงการพัฒนาที่เหมาะสม ประเด็นต่อไปที่เป็นความท้าทายคือ การนำไปใช้" จินางค์กูร กล่าว


          เด็กไทย1ใน5เผชิญความยากจน
          มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาฐานข้อมูลและภาวะสังคม สภาพัฒน์ กล่าวถึงผลการศึกษาดัชนีความยากจนหลายมิติในกลุ่มเด็กของไทย พบว่า มีเด็กที่มีสัดส่วนความยากจนหลายมิติ (H) ทั้งการศึกษา สุขภาพ มาตรฐานการดำรงชีวิต และสวัสดิภาพเด็ก กว่า 21.5% หรือ 1 ใน 5 ระดับความรุนแรงของความยากจน (A) 34.7% ดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) 0.075 โดยมีความยากจนในมิติด้านการศึกษามากที่สุด 42% รองลงมา คือ ด้านสุขภาพ 30% ด้านสวัสดิภาพเด็ก 18% และมาตรฐานความเป็นอยู่ 10% ตามลำดับ โดยค่าดัชนี Child-MPI ของประชากรในเขตชนบทสูงกว่าเขตเมือง ทั้งความยากจนในหลายมิติ และระดับความรุนแรงของความยากจน

เผยเด็กไทย 1 ใน 5 เผชิญความยากจน "ปัตตานี" สูงสุดใน 14 จังหวัดกลุ่มพิเศษ


          ขณะที่ผลการศึกษาแบ่งตามภูมิภาค พบว่า ภาคอีสานมีดัชนีค่า Child-MPI สูงที่สุด 0.088 รองลงมาคือ ภาคเหนือ 0.084 ภาคใต้ 0.072 ภาคกลาง 0.060 และกรุงเทพฯ 0.054 ทั้งนี้ แม้ว่าภาคอีสานจะมีสัดส่วนคนยากจนหลายมิติมากที่สุด แต่ระดับความรุนแรงของความยากจนยังต่ำกว่าภาคเหนือและภาคใต้ สะท้อนว่าแม้ภาคอีสานจะมีจำนวนเด็กยากจนหลายมิติมากกว่าภาคเหนือนั้นมีความรุนแรงของความยากจนมากกว่า


          14 จังหวัด"ปัตตานี"ยากจนสูง
          จากการศึกษาดังกล่าว ยังได้ลงลึกไปยัง 14 จังหวัด คัดเลือกจาก 9 จังหวัดที่มีความยากจนสูง และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า "ปัตตานี" เป็นจังหวัดที่มีค่าความยากจนหลายมิติในเด็ก (Child-MPI) สูงที่สุด 0.141 รองลงมา คือ กาฬสินธุ์ 0.132 นครพนม 0.120 ตาก 0.114 นราธิวาส 0.107 แม่ฮ่องสอน 0.101 กาญจนบุรี 0.080 ยโสธร 0.079 ศรีสะเกษ 0.076 สงขลา 0.070 สตูล 0.067 บุรีรัมย์ 0.065 ราชบุรี 0.062 และยะลา 0.045 โดยส่วนใหญ่ยากจนในมิติด้านการศึกษา กลุ่มที่น่าสนใจคืออายุระหว่าง 15-17 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบกับวามยากจนหลายมิติในระดับที่รุนแรงที่สุด โดยเฉพาะด้านการศึกษากว่า 51.06% เนื่องจากเป็นวัยที่หลุดจากระบบการศึกษา เพราะอาจต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบว่า เพศชายมีความยากจนหลายมิติสูงกว่าเพศหญิง รวมถึงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติของเด็กในครัวเรือนนั้นๆ

เผยเด็กไทย 1 ใน 5 เผชิญความยากจน "ปัตตานี" สูงสุดใน 14 จังหวัดกลุ่มพิเศษ


          โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยและทั่วโลก ได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด คือ "การลงทุนในเด็ก" แต่การลงทุนในเด็กไม่ใช่แค่สิทธิเด็ก แต่เป็นการพัฒนาชีวิตของเขาจริงๆ ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมในการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการ ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลเจาะลึกที่สำคัญ ที่ระบุว่าใครคือกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุด โดยพิจารณาจากมิติอื่นๆ นอกจากเงิน


          "ข้อมูลเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายและการกำหนดงบประมาณที่เหมาะสม ช่วยลดสัดส่วนเด็กยากจนในประเทศไทยทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วหากได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ทั้งนี้ ทางยูนิเซฟจะจัดทำการศึกษานี้อย่างต่อเนื่อง โดยผลการศึกษาครั้งถัดไปจะมีขึ้นอีกครั้งในปลายปี 2563" โธมัส กล่าวทิ้งท้าย


          ความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child-MPI) ระดับประเทศ
          - สัดส่วนความยากจนหลายมิติ (H) 21.5% หรือ 1 ใน 5
          - ระดับความรุนแรงของความยากจน (A) 34.7%
          - ดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) 0.075
          - ยากจนด้านการศึกษา 42%
          - ยากจนด้านสุขภาพ 30%
          - ยากจนด้านสวัสดิภาพเด็ก 18%
          - ยากจนด้านมาตรฐานความเป็นอยู่ 10% ตามลำดับ
          ความยากจนหลายมิติของเด็ก (Child-MPI) 14 จังหวัด
          1. ปัตตานี 0.141
          2. กาฬสินธุ์ 0.132
          3. นครพนม 0.120
          4. ตาก 0.114
          5. นราธิวาส 0.107
          6. แม่ฮ่องสอน 0.101
          7. กาญจนบุรี 0.080
          8. ยโสธร 0.079
          9. ศรีสะเกษ 0.076
          10. สงขลา 0.070
          11. สตูล 0.067
          12. บุรีรัมย์ 0.065
          13. ราชบุรี 0.062
          14. ยะลา 0.045


 

logoline