svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สั่งนายจ้างเบี้ยวค่าแรง​ จ่ายชดเชย​แรงงานเมียนมาร์​​ 45​ ล้าน

12 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน บุกเข้าตรวจสอบโรงงานเย็บผ้า แห่งหนึ่ง อ.แม่สอด จ.ตาก เบี้ยวค่าขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานเมียนมาร์ ล่าสุดสั่งนายจ่ายชดเชยย้อนหลัง 2 ปีรวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท

11 ก.ย 62 - เจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัวและป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และกรมสวัสดิการแรงงาน เข้าตรวจสอบโรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่ง ใน อ.แม่สอด จ.ตาก หลังได้รับข้อร้องเรียนว่ามีการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นไปตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำกับแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ จำนวนกว่า 600 คน อีกทั้งยังมีการใช้แรงงานโดยไม่มีวันหยุด


พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักกฎหมายและคดี ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรีครอบครัวและป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ตร. (ศพดส.ตร) บอกว่า ผู้ประกอบการโรงงานดังกล่าวซึ่งเป็นชาวใต้หวัน ยอมรับว่าจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายจริง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกคำสั่งเจ้าพนักงาน ให้ ผู้ประกอบการรายนี้ ต้องจ่ายชดเชยค่าแรงย้อนหลังให้กับแรงงาน จำนวนกว่า 600 คนย้อนหลัง 2 ปี รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท ภายใน 30 วัน ซึ่งหากไม่จ่ายตามกำหนด ก็จะดำเนินคดีต่อไป


สำหรับแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ นับเป็นกลุ่มคนที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง เนื่องจากไม่มีความรู้ทางกฎหมายที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิแรงงานที่พึงได้รับ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนและเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่มีโรงงานกว่า 940 แห่ง และมีคนงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ จำนวนกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องบูรณาการการทำงานเพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรง ตามที่กฎหมายกำหนด คือความเป็นธรรมให้กับแรงงานกลุ่มนี้

ด้านแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ รายหนึ่งบอกว่า ทำงานที่นี่มา 6 ปี เริ่มต้นได้ค่าแรงเพียง 80 บาทต่อวัน นายจ้างขึ้นค่าแรงให้ปีละ 20 บาท กระทั่งล่าสุด ได้รับค่าจ้างเป็นวันละ 265 บาท ในขณะที่เกณฑ์ของค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 310 บาทซึ่งภายหลังการกวดขันของเจ้าหน้าที่ นายจ้างเพิ่งจะเพิ่มเงินจาก 265 บาทกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 310 บาทต่อวัน เมื่อเดือนที่แล้ว (ส.ค.) ทั้งๆที่ควรได้รับการปรับขึ้นค่า พร้อมกันกับโรงงานที่อื่นๆ


อย่างไรก็ตาม แรงงานรายนี้ ยังบอกอีกว่า ถ้านายจ้างขึ้นค่าแรง ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ 310 บาท สวัสดิการที่เคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นข้าวฟรีหรือที่พักฟรี ก็จะต้องถูกตัดออกไป โดยนายจ้างจะเก็บค่าเช่ารายเดือนกับแรงงานทำให้แรงงานคิดหนักว่าระหว่างค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แลกกับการที่ต้องจ่ายค่าเช่าห้องพักให้กับโรงงานอันไหนคุ้มกว่ากัน ซึ่งพวกเขาก็มีทางเลือกมากนัก เพราะไม่อยากกลับไปทำงานในประเทศบ้านเกิดซึ่งได้ค่าแรงต่ำกว่ามาก

logoline