svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

รฟท.หาช่องเซ็นสัญญา 'ไฮสปีด' อุ้มซีพี

11 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รฟท.เสนอโมเดลบริหารสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เซ็นสัญญากลุ่มซีพีไปก่อน แต่ยังไม่ออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องร่วมกันว่าพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดมีความพร้อม มั่นใจไม่เกิดข้อพิพาท-ค่าโง่ในอนาคต

วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ระบุ ในช่วงบ่ายวันนี้ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะประชุมกับกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้งส์และพันธมิตร หรือกลุ่มซีพี ผู้ชนะการประมูล เพื่อสรุปรายละเอียดแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ จะกำหนดวันลงนามสัญญาร่วมลงทุนต่อไป 
สำหรับรายละเอียดแผนส่งมอบพื้นที่ ซึ่งจะถูกจัดทำเป็นแนบท้ายสัญญานั้น ล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้สรุปรูปแบบการส่งมอบพื้นที่ร่วมกัน โดยกำหนดให้ลงนามสัญญาร่วมทุนไปก่อน  หลังจากนั้นคณะทำงานทั้งสองฝ่ายยังคงลงพื้นที่ต่อไปเพื่อเคลียร์ปัญหาให้แล้วเสร็จ และเมื่อเห็นพ้องกันว่าพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดมีความพร้อมแล้ว รฟท.จะออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ Notice to Proceed หรือ NTP ต่อไป และภายใต้สัญญายังคงกำหนดเวลาก่อสร้างไว้ 5 ปีหลังออกใบ NTP
ข้อตกลงที่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายกำหนด มีเป้าหมายเพื่อให้เริ่มโครงการได้ ซึ่งการลงนามสัญญาและยังไม่ออกใบ NTP เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างนั้น จะช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาท และค่าโง่ในอนาคต เพราะเมื่อการเคลียร์พื้นที่ยังไม่แล้วเสร็จ ใบ NTP ยังไม่ถูกกำหนดใช้ สัญญางานก่อสร้างยังไม่ถือว่าเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ รฟท.จึงยังมีเวลาในการส่งมอบพื้นที่ให้ครบ และเอกชนยังมีเวลาในการเคลียร์พื้นที่เพื่อเริ่มงาน
ผู้ว่าการ รฟท.ระบุว่า ทางออกโดยการลงนามสัญญาและเริ่มงานไปด้วยกัน แต่ไม่เริ่มสัญญาก่อสร้าง ถือเป็นจุดที่ดี เพราะเดิมโครงการอื่นๆ มักจะรีบลงนามสัญญา เพื่อเริ่มงานลงพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดเมื่อมีปัญหาส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ ภาครัฐจะต้องถูกเอกชนฟ้องร้องเป็นข้อพิพาท และกลายเป็นค่าโง่ แต่ทางออกนี้จะแฟร์กับทั้งสองฝ่าย เพราะรฟท.มีเวลาเคลียร์พื้นที่ และเอกชนจะสามารถก่อสร้างโครงการเสร็จทัน 5 ปี
ภายหลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุน หากซีพีต้องการเข้าพื้นที่เพื่อเคลียร์ความพร้อมของที่ดินก่อน สามารถส่งเอกสารทำบันทึกขออนุญาตเข้าพื้นที่แต่ละส่วนได้ แต่จะไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างขุดเจาะที่ดินได้ เพราะงานดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาต NTP ก่อน โดยโมเดลการดำเนินงานในลักษณะนี้ เคยใช้ในโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าสูง เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งต้องใช้เวลาเคลียร์พื้นที่เพื่อส่งมอบประมาณปีครึ่งนับจากวันลงนามสัญญา
ยืนยันว่าการดำเนินงานลักษณะนี้ ไม่ผิดข้อกำหนดในเอกสารข้อเสนอ Request for Proposal หรือ RFP เพราะ RFP ไม่ได้กำหนดขอบเขต หรือระยะเวลาส่งมอบพื้นที่ภายหลังลงนามสัญญา แต่ยืนยันว่าโมเดลนี้จะไม่ทำให้โครงการไฮสปีดเทรนล่าช้า เพราะทั้งสองฝ่ายจะมีการกำหนดรายละเอียดกรอบเวลาเคลียร์พื้นที่ให้แล้วเสร็จอย่างชัดเจน รวมทั้ง รฟท.จะตรวจสอบการทำงานของทั้งสองฝ่ายให้รอบคอบทุกไตรมาส
ใบ NTP จะออกก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดมีความพร้อมจะเริ่มงานก่อสร้าง และงานก่อสร้างต้องจบให้ได้ภายในกรอบ 5 ปี ทางออกนี้เป็นทางออกที่ดี เพราะทำให้โครงการเริ่มได้ โอกาสที่งานก่อสร้างจะดีเลย์ก็น้อย แน่นอนว่าข้อพิพาทก็จะไม่มี ค่าโง่ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโครงการที่ ร.ฟ.ท.ต้องส่งมอบมีทั้งหมด 4,421 ไร่ เป็นพื้นที่ต้องเวนคืนประมาณ 850 ไร่ โดย รฟท.มีกำหนดส่งมอบหลังออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน ภายใน 2 ปี และพื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา 3,571 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่พร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา 3,151 ไร่ พื้นที่ถูกบุกรุก 210 ไร่ จำนวน 513 ราย เบื้องต้นมีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี และพื้นที่ติดสัญญาเช่าอีก 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา มีกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
ส่วนพื้นที่สถานีมักกะสันและศรีราชา ซึ่งจะพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยรอบสถานี รฟท.มีความพร้อมส่งมอบหลังลงนามสัญญา แบ่งเป็น สถานีมักกะสัน 142.95 ไร่ แต่สามารถส่งมองได้ทันที 132.95 ไร่ เนื่องจากมีพื้นที่ติดปัญหาราว 9.31 ไร่ ที่เป็นพื้นที่พวงรางยังไม่สามารถส่งมอบได้ โดย รฟท.สนับสนุนงบประมาณ 300 ล้านบาทให้ซีพีเป็นผู้รื้อย้ายพวงราง 
ส่วนสถานีศรีราชาพร้อมส่งมอบ 27.45 ไร่ แต่มีเงื่อนไขว่าซีพีต้องลงทุนสร้างอาคารบ้านพักพนักงาน รฟท. จำนวน 3 อาคาร ก่อนเข้าพัฒนาพื้นที่

logoline