svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ดร.ธรณ์" แจง พลาสติกในท้องปลามาจากไหน

11 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณี ผลการศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในปลาทู ซึ่งจับมาจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง บริเวณหาดเจ้าไหม โดยพบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 6.503 ชิ้น/ตัว

ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง รายงานผลการศึกษาเรื่องไมโครพลาสติกในปลาทู ซึ่งจับมาจากเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง บริเวณหาดเจ้าไหม โดยพบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยพลาสติกลักษณะต่างๆ เช่น เส้นใย ชิ้น แท่ง และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

ด้านเพจ ReReet ระบุว่าปัญหาไมโครพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว เพราะดูเหมือนจะพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกไปแทบจะทุกสภาพแวดล้อมตั้งแต่บนยอดเขาลงไปถึงก้นมหาสมุทร หรือแม้แต่ฝนที่ตกลงมา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการพบไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในเบียร์ ในน้ำดื่มบรรจุขวด เกลือ และแน่นอนที่สุดในอาหารทะเล

ติดตามข่าวงานศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในอาหารทะเลของต่างประเทศไม่ว่าจะปลา หอยแมลงภู่ หอยนางรม กุ้ง ปู กุ้งมังกร ก็ยังรู้สึกว่าไกลตัว แต่งานศึกษาเบื้องต้นไมโครพลาสติกในปลาทูของศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่จังหวัดตรัง ก็ทำให้พบความจริงว่า เราคงจะหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าสังเกตคือปริมาณไมโครพลาสติกที่พบจัดว่าค่อนข้างสูงมาก เพราะโดยเฉลี่ยโดยรวมจากงานศึกษาการปนเปื้อนในสัตว์น้ำของหลายๆประเทศพบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0-7.2 ชิ้นต่อตัว หรือการศึกษาปลาทู ที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2015 ก็พบโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ชิ้นต่อตัว แต่ของบ้านเราสูงถึง 78 ชิ้น!!

แม้ร่างกายเราจะสามารถขับถ่ายไมโครพลาสติกเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ถึง 90% และยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่ามนุษย์ต้องได้รับปริมาณพลาสติกมากเท่าไหร่จึงจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือการทำงานของอวัยวะต่างๆ แต่การศึกษาในสิ่งมีชีวิตหลายกลุ่มก็พบผลกระทบตั้งแต่การทำให้เกิดโรคในปะการัง หรือการรบกวนทำงานของฮอร์โมนในปลา

ข้อเท็จจริงที่ว่าไมโครพลาสติกเป็นตัวดูดซับสารพิษต่างๆในสภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ ที่ตอนนี้พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในอาหารหลายอย่างที่เราบริโภค

จากที่เคยมีคำกล่าวที่ว่า "You are what you eat" หรือสุขภาพของเราจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ว่าเรากินอะไร อาจจะต้องเปลี่ยนเป็น You eat what you throw away หรือ อะไรที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล สุดท้ายก็กลับมาเรา คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย

"ดร.ธรณ์" แจง พลาสติกในท้องปลามาจากไหน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวลาต่อมา ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
เรื่องไมโครพลาสติกกำลังดัง เมื่อศูนย์วิจัยอุทยานพบไมโครพลาสติกในปลาเฉลี่ย 78 ชิ้น/ตัว
#พลาสติกในท้องปลามาจากไหน เพื่อนธรณ์ลองดูภาพถุงพลาสติกที่เราเพิ่งเก็บมาจากใต้ทะเลสิครับ
ถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ ตราบใดที่ถุงยังอยู่ เศษพลาสติกก็หลุดออกมาเรื่อยๆ
การเก็บขยะทะเล จึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกัน
ขอบคุณท่านรมต.วราวุธด้วยฮะ เพราะการแบนถุงก๊อบแก๊บในเดือนมกรา ปีหน้า จะช่วยลดต้นตอไมโครพลาสติกไปได้อีกเยอะเลย
#เมื่อแตกออกมาแล้วในน้ำมีเยอะไหม
ผมนำเครื่องมือเก็บไมโครพลาสติกลากในทะเล จากนั้นก็นำมากรองใส่ขวดที่อยู่ในมือผม จะเห็นเม็ดเล็กๆ ที่ก้นขวด นั่นแหละครับคือไมโครพลาสติก (บางส่วน)
เมื่อนำไปส่องดูในกล้อง เราจะเห็นไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 มิลลิเมตร มีอยู่หลายแบบเลยฮะ
ปลาบางชนิดกินแพลงก์ตอนในน้ำ ก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้อง
บางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้
เรากินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป อาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรค ตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้
เรื่องนี้อีกยาว ตอนเย็นจะเล่าให้ฟังโดยละเอียด ตอนนี้ขอทำงานก่อนครับ
อย่าลืมอ่านบรรยายภาพด้วยนะครับ
หมายเหตุ - สอบถามเรื่องไมโครพลาสติกในปลา ติดต่อที่ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานทางทะเล จังหวัดตรัง

logoline