svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เทียบข้อมูล 3 ชุด "ผู้กองนัส" ถูกจับออสเตรเลีย

10 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังคงเป็นเรื่องราวตามหลอกหลอนอีกระลอกสำหรับลูกผู้ชายที่ชื่อ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีเคยถูกจับกุมที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ข้อมูลไม่ชัด ยังขัดแย้งกันอยู่ว่าเกี่ยวข้องกับการขนยาเสพติด หรือเป็นแค่ความเข้าใจผิด เพราะถูกใส่ความ

ประเด็นนี้ถูกเขย่ามาตั้งแต่ช่วง ร้อยเอก ธรรมนัส เข้ารับตำแหน่ง จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามการลงสมัคร ส.ส.เลยทีเดียว หากเกี่ยวข้องกระทำผิดตามกฎหมายยาเสพติดจริงๆ (แต่ตอนนั้นก็มีคนออกมาแก้ต่างทำนองว่า รัฐธรรมนูญไทยก็บังคับเฉพาะกับศาลไทย ไม่เกี่ยวกับศาลต่างประเทศ หรือศาลออสเตรเลีย)

เมื่อโดนโจมตีหนักเข้า ร้อยเอกธรรมนัส ก็ออกมาแถลงชี้แจงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ถูกจับเป็นความเข้าใจผิดและถูกใส่ร้าย

ช่วงนั้นมีข้อมูลที่ "เนชั่นทีวี" ได้รับมาจากการให้สัมภาษณ์ของเพื่อนรุ่นพี่ของ ร้อยเอกธรรมนัส ที่ถูกจับพร้อมกัน เจ้าตัวบอกเฉพาะชื่อว่าชื่อ ศรศาสตร์ เที่ยมทัศน์ แต่ไม่ยอมบอกยศและตำแหน่งขณะเกิดเหตุ โดยสาระสำคัญที่ นายศรศาสตร์ อธิบาย กับที่ร้อยเอกธรรมนัสชี้แจง มีบางส่วนไม่ตรงกัน แต่รวมๆ แล้วก็เป็นบวกกับร้อยเอกธรรมนัส

เรื่องนี้ทำท่าจะจบไปด้วยดี กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ สื่อหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย "ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์" ได้นำเรื่องราวของคดีของร้อยเอกธรรมนัสออกมาตีแผ่ โดยตั้่งต้นจากข่าวเก่าที่เคยตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี ค.ศ.1993 หรือ พ.ศ.2536 ยืนยันว่า ร้อยเอก ธรรมนัส หรือ ร้อยตรี มนัส ยศขณะนั้น รวมถึงพี่คนสนิท ศรศาสตร์ เทียมทัศน์ ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี แต่ได้่รับโทษจริง 4 ปี จากนั้นก็ขอทัณฑ์บนได้ กระทั่งได้รับอิสรภาพ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2540

ข้อมูลทั้ง 3 ชุดมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน "เนชั่นทีวี" เปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ดังนี้

เริ่มจากผู้กองธรรมนัสก่อน ผู้กองเล่าว่าตอนนั้นเดินทางไปเที่ยวออสเตรเลียตามคำชักชวนของเพื่อนรุ่นพี่ เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง จู่ๆ ก็มีตำรวจประมาณ 4-5 นายเข้ามารวบตัว แม้จะพยายามขัดขืนแต่ก็ไม่สำเร็จ ตำรวจค้นตัวและที่พักไม่พบของกลางยาเสพติด มีแต่คำให้การจากนักค้ายาซัดทอดเพื่อยัดข้อหาคนไทย แต่กฎหมายออสเตรเลียมีอยู่ข้อหนึ่ง คือรู้ว่ามีการซื้อขายครอบครองยาเสพติดกันแต่ไม่แจ้ง ก็มีความผิด จุดนี้ที่ตนผิด และถูกคุมขังนาน 8 เดือน จากนั้นก็ไปทำงานช่วยดูแลเยาวชนอีก 6 เดือน แล้วก็ไปประกอบอาชีพ และอาศัยอยู่ในออสเตรเลียอีกหลายปี กระทั่ง 2539-2540 ออสเตรเลียมีนโยบายส่งชาวต่างชาติกลับภูมิลำเนา ตนกับเพื่อนรุ่นพี่จึงเดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ได้มีเงื่อนไขหรือถูกคุมขัง

ขณะที่ นายศรศาสตร์ เพื่อนรุ่นพี่ที่ถูกจับด้วยกันเล่าว่า ช่วงที่ผู้กองธรรมนัสไปเที่ยวออสเตรเลีย จู่ๆ ก็มีชายฉกรรจ์ 10 กว่าคนบุกเข้าห้อง ฝ่ายผู้กองธรรมนัสก็ต่อสู้ เพราะคิดว่าเป็นคนร้าย กระทั่งแขนหัก แต่จากการตรวจค้นห้อง ไม่พบของกลางยาเสพติด การถูกบุกค้นเพราะถูกซัดทอด แต่เมื่อไม่มีหลักฐาน ก็ไม่ได้ถูกคุมขัง จึงไปทำงานช่วยดูแลเยาวชนเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นไปเป็นผู้จัดการบริษัทส่งกระดาษทิชชู่แห่งหนึ่งนานหลายปี สุดท้ายทางการออสเตรเลียหาหลักฐานอะไรไม่ได้ ตนและร้อยเอกธรรมนัสจึงตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย

ด้านข้อมูลจาก ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ระบุว่า ร้อยเอก ธรรมนัส หรือขณะนั้นใช้ชื่อว่า ร้อยตรี มนัส โพธิ์พรม ยอมรับความผิดฐานลักลอบนำเฮโรอีนเข้าจำหน่ายในออสเตรเลีย หลังถูกเจ้าหน้าที่บุกจับในคืนวันที่ 14 เมษายน ขณะเดินทางไปโรงแรมแห่งหนึ่ง พร้อมกับชาวออสเตรเลีย 2 คน ร้อยตรี มนัส และนายศรศาสตร์ ได้รับโทษจำคุก 6 ปี แต่รับโทษจริง 4 ปี จึงขอทัณฑ์บนได้ กระทั่งรับอิสรภาพในปี 2540 และถูกส่งตัวกลับประเทศไทยทันที

ประเด็นที่แตกต่างกันมากที่สุดของข้อเท็จจริงทั้ง 3 ชุุด ก็คือ ข้อมูลของสื่อออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้กองธรรมนัสเกี่ยวข้องกับการขนเฮโรอีนเข้าออสเตรเลีย แต่ข้อมูลของเจ้าตัวเอง และนายศรศาสตร์ เพื่อนรุ่นพี่ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

กับอีก 1 ประเด็นคือ ตกลง ผู้กองธรรมนัส ถูกควบคุมตัวหรือไม่ เพราะนายศรศาสตร์ เพื่อนรุ่นพี่ อ้างว่าไม่เคยถูกควบคุมตัวเลย (ตามข่าวคือ เพื่อนรุ่นพี่คนนี้ถูกจับพร้อมกันกับผู้กองธรรมนัส) ขณะที่ตัวผู้กองธรรมนัสเอง ยอมรับว่าถูกควบคุมตัว ติดคุกจริง แต่เป็นคดีรู้ว่ามีการจำหน่ายหรือครอบครองยาเสพติด แต่ไม่แจ้งทางการ ซึ่งที่ออสเตรเลียถือว่ามีความผิด แต่ตนไม่เกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ส่วนข้อมูลจากสื่อออสเตรเลีย ฟันธงเลยว่า ผู้กองธรรมนัส ถูกคุมขังนานถึง 4 ปี เพราะยอมรับเองว่าขนยาเสพติดเข้าออสเตรเลีย
เฉพาะประเด็นนี้ ผู้กองธรรมนัส ชี้แจงล่าสุด ซึ่งคงพูดซ้ำอีกครั้งในช่วงบ่ายวันนี้ว่าข้อกล่าวหาของสื่อไม่เป็นความจริง สิ่งที่นำมาลงข่าวเรียกว่า pre-sentence หรือคำให้การก่อการพิจารณาคดีเท่านั้น

logoline