svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คลังรีดภาษี 'ความหวาน' คาดรายได้เพิ่ม 1.5 พันล้าน

10 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสรรพสามิตเตรียมขึ้นภาษีความหวานรอบใหม่ 1 ตุลาคมนี้ โดยเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล 10-14% จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร คาดสร้างรายได้รัฐเพิ่มปีละ 1,500 ล้านบาท พร้อมเตรียมเสนอจัดเก็บภาษีความเค็ม

กรมสรรพสามิต เตรียมเรียกเก็บภาษีความหวานเพิ่มอีก 1 เท่าตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ตามแผนการปรับโครงสร้างภาษี
ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินกำหนดหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร คิดเป็น 10-14% ต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 1 บาทต่อลิตร จากเดิม 50 สตางค์ต่อลิตร และอัตราภาษีดังกล่าวจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดทุกๆ 2 ปี
ณัฐกร อุเทนสุต รองโฆษกกรมสรรพสามิต ระบุ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนเรื่องความหวานมากนัก เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายสินค้าที่อาจลดลง โดยบางยี่ห้อออกผลิตภัณฑ์ใหม่หวานน้อยลง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค แต่ยังขายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีปริมาณน้ำตาลเท่าเดิม ส่วนหนึ่งผู้ผลิตจะแบกรับภาระต้นทุนภาษีนั้นไว้เอง และบางส่วนผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภค
กรมสรรพสามิต ประเมินว่าหลังจากปรับขึ้นอัตราภาษีในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะทำให้กรมฯ สามารถจัดเก็บภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันจัดเก็บได้ 2,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับภาษีความหวานจะเก็บจากกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม โดยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดในทุกๆ 2 ปี และขึ้นในอัตรา 2 เท่า
โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ภาระภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม 10-14% จะเพิ่มจาก 1 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร และในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 จะเพิ่มจาก 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร เชื่อว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนสูตรเครื่องดื่มเพื่อลดความหวาน
ในช่วงที่กรมฯ เริ่มเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มเมื่อ 2 ปีก่อนพบว่า มีกลุ่มเครื่องดื่มให้ความสำคัญปรับลดสูตรความหวานลง 2 เท่าตัว จาก 60 - 70 สินค้า เพิ่มเป็น 200 - 300 สินค้า และมีน้ำดำบางค่ายลดปริมาณน้ำตาลลงจาก 10 % เหลือเพียง 7.5% ทำให้เครื่องดื่มดังกล่าวเสียภาษีในอัตราเดิม
นอกจากนี้ กรมฯยังเตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดเก็บภาษีในสินค้าที่มีความเค็ม เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพประชาชนและรองรับสังคมผู้สูงอายุ
โดยแนวทางการจัดเก็บภาษีจะคล้ายกับภาษีความหวานในเครื่องดื่ม คือ การกำหนดปริมาณโซเดียม หรือเกลือที่อยู่ในสินค้าต่างๆ เช่น ขนม อาหารกึ่งสำเร็จรูป คิดจากปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวันว่าไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมมาเข้าสูตร เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละประเภทนั้นควรมีปริมาณโซเดียมผสมเท่าใด โดยการเก็บภาษีความเค็มจะไม่เก็บจากเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บภาษีของกรมฯ เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัวลง คาดว่าการจัดเก็บภาษีสิ้นปีงบประมาณหรือจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ จะจัดเก็บได้ 5.84 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วนในปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้า 6.4 แสนล้านบาท

logoline