svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

อุ้มฆ่า-อุ้มหาย... กฎหมายก็ถูกอุ้ม

09 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้ประเด็น "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ถูกหยิบมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง หลังดีเอสไอแถลงพบกระดูกของ "บิลลี่" ในลักษณะถูกฆ่าเผาในถังแดงแล้วโยนทิ้งน้ำ............

แต่ก่อนอื่นสังคมควรตระหนักก่อนว่าการอุ้มฆ่า-อุ้มหายที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ไม่ใช่คดีอุ้มฆ่าที่เป็นอาชญากรรมธรรมดา ในลักษณะของการฆ่าแล้วซ่อนเร้นทำลายศพ เหมือนอย่างคดี "คุณเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ" แต่มันเป็น "อาชญากรรมแบบพิเศษ" ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ในทางสากลเรียกว่า "การถูกบังคับให้สูญหายซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ"
การอุ้มหายแบบนี้ ตำรวจคลี่คลายคดียากกว่าการอุ้มฆ่าทั่วๆ ไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำมีอำนาจทางกฎหมาย รู้ข้อมูลและสถานที่ต่างๆ จึงก่อคดีได้อย่างไร้ร่องรอย และทำลายหลักฐานได้อย่างเป็นระบบ ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมี "อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ" ออกมาให้รัฐบาลทั่วโลกช่วยกันวางมาตรการป้องกัน และหนึ่งในน้้นก็คือการตรา "กฎหมายเฉพาะ" สำหรับความผิดนี้ขึ้นมา
จริงๆ แล้วการอุ้มฆ่าอุ้มหายที่เป็น "อาชญากรรมโดยรัฐ" เกิดมาแล้วหลายครั้งในบ้านเราในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เอาเฉพาะอุ้มหายแบบหาศพไม่พบ ก็เช่น หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำจิตวิญญาณของคนปัตตานี นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญในยุค รสช. ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายผู้ช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กมล เหล่าโสภาพรรณ แกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชันที่ จ.ขอนแก่น แล้วก็มาถึงบิลลี่ และ ลุงเด่น คำแหล้
การเจอชิ้นส่วนศพในคดีของบิลลี่ย่อมดีกว่าคดีทนายสมชายที่ไม่เจออะไรเลย แค่สู้ว่าเหยื่อตายแล้ว หรือฟ้องผู้ต้องหาด้วยคดีฆ่าก็ยังทำไม่ได้ กลายเป็นข้อจำกัดของประมวลกฎหมายอาญาที่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย คดีทนายสมชายที่เป็นคดีอุ้มหายคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล จึงยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้จริง
ในรัฐบาล คสช. เคยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่ตอนหลังถูกตีกลับ จนร่างกฎหมายตกไป ทำให้เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ ทั้งที่หากมีกฎหมายใหม่ การพิสูจน์เรื่องอุ้มฆ่า-อุ้มหายจะง่ายขึ้น เพราะภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่กับผู้สูญหายเป็นคนสุดท้ายกฎหมายฉบับนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจควบคุมตัว จะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เมื่อปล่อยตัวแล้ว ต้องพาไปส่งถึงบ้าน หรือมีหลักฐานยืนยันกับคนรอบข้างและครอบครัวได้ว่าปล่อยแล้วจริงๆ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กระทบกับประชาชน มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น ไม่ใช่ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เมื่อเกิดกรณีบุคคลสูญหาย ก็อ้างแค่ว่าปล่อยตัวไปแล้ว แค่นี้ก็พ้นผิด เหมือนที่ผ่านๆ มา
ได้แต่ตั้งความหวังให้รัฐบาลและสภาชุดนี้ จะไม่อุ้มหายร่างกฎหมายฉบับนี้ซ้ำเดิมอีก...

คอลัมน์ โหมโรง โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

logoline