svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปัญหา​ 'หนี้ครัวเรือน'​ ควรห่วงใคร ระหว่าง 'คนปล่อยกู้'​ หรือ​ 'คนกู้'

08 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางภาวะแบบนี้พูดยากเหมือนกันที่จะบอกว่าอะไรควรเป็นอะไร ทำได้เพียงให้กำลังใจ ว่าชีวิตมีทางออกเสมอ และหนี้ครัวเรือนไทยก็จะยังสูงต่อไป ส่วนคนที่จะต้องแก้ไขในภาพรวม ก็จะโทษต่อไปว่าหนี้ครัวเรือนเกิดจากความฟุ่มเฟือยของประชาชน...

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยก่อตัวมานานแล้ว ล่าสุดอาจทำให้เราตกใจไปบ้างว่าเมื่อพบว่าประเทศไทยเป็นหนี้ครัวเรือนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น และสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

การเป็นรองแชมป์ในเรื่องการเป็นหนี้ครัวเรือนจากประเทศเกาหลีใต้ นั้นต่างกันคนละบริบท เพราะไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ส่วนเกาหลีใต้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ต่อให้มีหนี้ครัวเรือนสูง ผู้คนก็ยังมีศักยภาพที่ยังจะหาเงินใช้หนี้ สวนทางกับประเทศไทยที่อาจมีปัญหา เพราะรายได้บางครอบครัวไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นหนี้เสียกระทบกับระบบเศรษฐกิจ

หลายธนาคารที่ปล่อยกู้ พยายามจะคุมหนี้เสียไม่เกิน 1- 2% หรือน้อยที่สุด ถึงวันนี้เราไม่รู้ว่าหนี้เสียของสถาบันการเงินในแต่ละแห่งเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือมีแนวโน้มสูงขึ้น

สูงขึ้นจนจะเกิดวิกฤตหรือไม่ ยังไม่มีใครบอกได้ แต่การสร้างหนี้สูงติดอันดับต้นๆของโลก สะท้อนวิกฤตบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า?

หลายคนมองไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เกิดฟองสบู่แตก ภาคครัวเรือนเป็นหนี้สินพุ่งพ่าน ภาคธุรกิจก็ล้มละลาย แต่บริบทที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 กับในยุคปัจจุบันมันต่างกัน ยุคเศรษฐกิจที่ตกต่ำเกิดขึ้นกับภาคครัวเรือนคนชนชั้นกลางไปถึงคนรายได้ต่ำ เกษตรกรในพื้นที่อันเนื่องมาจากผลผลิตไม่ได้ราคาต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เศรษฐกิจในประเทศภาพรวมจะดีขึ้นไม่เฉพาะเพียงการลงทุนโครงการใหญ่ หรือการดึงเงินนักลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว ปากท้องของคนในประเทศต่างหากที่เป็นจุดวัดสำคัญ วัดเศรษฐกิจดีขึ้นแค่ไหน

ถ้าคนเหล่านี้มีปัญหา ก็หมายความว่าเศรษฐกิจแย่ นายกรัฐมนตรีพยายามจะบอกว่าขอให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอยู่ เราไม่ได้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เศรษฐกิจแค่เติบโตน้อยลงซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค

แต่จะว่าไปแล้วถ้าเราบริหารจัดการดีๆพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศ จัดสรรทรัพยากรใหม่ ลงทุนในเรื่องที่จำเป็นและตัดการลงทุนภาครัฐที่ไม่จำเป็น เช่นการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก็อาจทำให้เศรษฐกิจเราไม่ไปถึงจุดที่ย่ำแย่มากนัก

ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่ากำลังติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดว่าจะไปถึงจุดที่กระทบกระทบต่อสถาบันการเงินหรือไม่ ในระหว่างนี้เราก็ได้เห็นรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆออกมา ซึ่งก็ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าอาจจะไม่ส่งผลอะไรเลยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจะส่งผลน้อยมาก

ส่วนตัวผมเป็นห่วงในเรื่องของ การใช้ชีวิตในระดับครัวเรือนมากกว่า ที่ยังหาทางออกกับปัญหาหนี้สินไม่ได้ ไม่ได้รู้สึกห่วงสถาบันการเงินหรือระบบเศรษฐกิจอะไรที่ว่านั้น เพราะยังไงคนเหล่านี้มีทางออกอยู่แล้ว แต่คนจนๆ คนที่หมุนเงินเดือนชนเดือน รายได้ลดลง ทำงานหนักขึ้น ค่าครองชีพแพงขึ้น คนเหล่านี้แบกรับความเครียดและความเสี่ยงของชีวิตเอาไว้โดยที่ไม่มีใครใส่ใจและแก้ไขปัญหาพวกเขาอย่างจริงจัง มีแต่โทษว่า ใช้เงินฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักเก็บ

ถ้ามาดูรายละเอียดว่าหนี้ครัวเรือนเกิดจากการบริโภคสิ่งใด เราก็จะเห็นได้ว่าสัดส่วนคือ กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ รองลงมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งบ้านและรถนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าเขาไม่มีเงินผ่อน 2 อย่างนี้ นี่คือนี่แหละคือปัญหา ณ เวลานี้ผมไม่สามารถรู้ได้ว่ามีประชาชนกี่คน ที่เงินไม่พอผ่อนบ้าน ผ่อนรถ มีกี่คนที่ถึงจุดวิกฤตจุดนั้น

ในมองมุมของผู้ให้กู้ คือสถาบันการเงิน ก็จะโทษทุกอย่างที่เป็นฝั่งของผู้กู้ เช่น ไม่มีวินัยทางการเงิน มีภาระอื่นๆเพิ่ม มีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ แต่ถ้ามองในฝั่งของ ผู้กู้ เศรษฐกิจตกต่ำเงินเดือนไม่ขึ้น รายได้ลดลง ถูกออกจากงาน ไม่มีเงินมาผ่อน ต้องเขียมเงินเพราะมีภาระเพิ่มขึ้น ลูกยังต้องเรียนหนังสือ แต่ในบ้านมีคนตกงานเพิ่ม เป็นต้น

เป็นคุณจะเห็นใจใคร เห็นใจธนาคารที่ปล่อยกู้ หรือเห็นใจผู้กู้ที่เป็นประชาชนคนธรรมดาตาดำๆ สำหรับผมเห็นใจ ผู้กู้เพราะยังไง ผู้ให้กู้ก็ยังมีเงินถุงเงินถัง แต่ผู้กู้ที่กำลังเผชิญปัญหาอาจจะต้องแก้ปัญหาอยู่คนเดียว

ท่ามกลางภาวะแบบนี้พูดยากเหมือนกันที่จะบอกว่าอะไรควรเป็นอะไร ทำได้เพียงให้กำลังใจ ว่าชีวิตมีทางออกเสมอ และหนี้ครัวเรือนไทยก็ยังสูงต่อไปเช่นนี้แล ส่วนคนที่จะต้องแก้ไขในภาพรวม ก็จะโทษต่อไปว่าหนี้ครัวเรือนเกิดจากความฟุ่มเฟือยของประชาชน...

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #VAJIRAVIT #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline