svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อัมพฤกษ์ – อัมพาต ใครก็เป็นได้

07 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อัมพฤกษ์ อัมพาต คำที่มักใช้เรียกอาการที่ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นชื่อโรค แต่แท้ที่จริงแล้วอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการตามภาษาแพทย์ว่า "โรคหลอดเลือดสมอง"

อัมพาต คือ ภาวะที่ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองส่วนการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นไม่ถือเป็นภาวะที่เกิดจากโรค แต่จะถูกจัดเป็นอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตจากอุบัติเหตุและมีการรักษาที่แตกต่างกัน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นต้นทางของการเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดและมีไขมันหรือหินปูนมาจับ หรือเกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันทำให้สมองบางส่วนขาดเลือดหรือตาย
2. หลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่งและทำลายเนื้อสมองบริเวณนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติที่สมองจากสาเหตุข้างต้นแล้ว สมองจะถูกทำลาย และไม่สามารถสั่งงานไปที่อวัยวะรับคำสั่ง โดยตรงอย่างกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ จึงส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตส่วนจะเคลื่อนไหวร่างกายซีกใดไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสมองซีกใดถูกทำลาย หากร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ แสดงว่าสมองซีกซ้ายโดนทำลาย (สมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา สมองซีกขวาควบคุมร่างกายซีกซ้าย)
ปัจจัยเสี่ยง
อัมพาตมีความร้ายแรงเพียงใด เชื่อว่าคำถามนี้ทุกคนคงหาคำตอบกันได้ไม่ยาก แต่หากถามถึงสาเหตุแล้ว คำตอบที่ได้คงวนเวียนอยู่เพียงไม่กี่ข้อ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วต้นตอของโรคมีมากมายเกินกว่าเราจะนึกถึง ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องกันตัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เรามาดูกันค่ะว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
อัมพาต มักมีโรครุมเร้าหลายชนิดและเป็นอยู่นานนับปี นั่นเป็นเพราะว่าโรคต่างๆ เหล่านั้นเป็นต้นทางนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้
1. โรคความดันโลหิตสูง
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยอันดับหนึ่งของคนไทย ซึ่งเป็นตัวการทำให้เส้นเลือดแข็ง เนื่องจากได้รับแรงดันเลือดสูงๆ เป็นเวลานาน เมื่อเส้นเลือดแข็งและมีหินปูนมาเกาะ จึงเกิดการอุดตันและทำให้เส้นเลือดแตกได้ดังกรณี คุณลุงอุดม ไวษยดำรงอายุ 70 ปี อดีตคนไข้อัมพฤกษ์จากความดันโลหิตสูง เล่าให้ฟังถึงสาเหตุการเจ็บป่วยเมื่อสิบปีก่อนว่าคุณลุงเป็นคนที่ชอบรับประทานอาหารประเภทหวานๆ มันๆ อาหารจานโปรดคือ เป็ดย่าง ขาหมู และชอบดื่มสุราเป็นประจำจนไขมันค่อยๆ อุดตันในเส้นเลือดและเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่นานหลายปี ต่อมาจึงพัฒนากลายเป็นโรคอัมพฤกษ์มีอาการหน้าชาและกระตุก ร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้นานหลายเดือน จนต้องเข้ารับการรักษาตัว และปัจจุบันนี้คุณลุงก็ยังคงต้องพบแพทย์อยู่เป็นประจำ
2. โรคเบาหวาน
ภาวะน้ำตาลในเส้นเลือดสูงจะทำให้มีน้ำตาลเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดตีบ ดังเช่นกรณีของ คุณศิริรัตน์ สุธา อายุ 66 ปี ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์เมื่อสองปีก่อนจากโรคเบาหวานคุณศิริรัตน์บอกว่า เป็นคนที่ชอบรับประทานอาหารและขนมมาก ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จนวันหนึ่งเกิดอาการหน้ามืดและล้มหมดสติฟื้นมาอีกทีก็พบว่าร่างกายซีกขวาขยับไม่ได้ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเพราะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี มีน้ำตาลในเลือดมากจนอุดตันและกีดขวางการไหลเวียนเลือดจนเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง
3. โรคหัวใจ
โรคหัวใจบางชนิดทำให้มีลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนมากโรคเหล่านี้จะเป็นตั้งแต่กำเนิด
4. โรคอ้วน
ปกติแล้วโรคอ้วนไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้โดยตรง แต่คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานจะเป็นปัจจัยนำทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
5. โรคติดต่อ
โรคติดต่อบางชนิดทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบที่หลอดเลือดสมองได้ เช่น โรควัณโรค โรคซิฟิลิส โรคเอดส์และโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเองหรือเอสแอลอี
6. ภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง
ผู้ที่มีไขมันสะสมในกระแสเลือดมาก จะทำให้เกิดการพอกพูนที่เส้นเลือดจนเกิดการตีบตันและเลือดไหลเวียนไม่สะดวก
พฤติกรรมเสี่ยงโรค
อัมพาตเกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้นแต่นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวค่ะ เพราะหากหนุ่มสาวคนใดมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้แล้ว โอกาสที่จะเป็นโรคนี้ก็มีมากไม่แพ้ผู้สูงอายุเช่นกัน
1. การดื่มสุรา
แอลกอฮอล์ในสุราถือเป็นตัวการหลักที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น หากดื่มเป็นประจำจะทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและพัฒนาเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ในที่สุด
2. การสูบบุหรี่
นอกจากความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจแล้ว หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดแดงเกร็ง ลดความยืดหยุ่นของเส้นเลือด และทำให้หลอดเลือดแคบลงจนนำไปสู่การตีบตันของเส้นเลือดค่ะ
3. รับประทานอาหารรสเค็ม
ผู้ที่ชอบรับประทานเค็มคงต้องระวังกันให้มากขึ้น เพราะโซเดียมที่มีในน้ำปลาและเกลือจะทำให้ร่างกายดูดน้ำจากเซลล์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อเจือจางโซเดียม เมื่อมีน้ำในเลือดมาก แรงดันเลือดจึงสูงขึ้น
ซึ่งเป็นต้นตอของโรคความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแข็งจากการรับแรงดันเลือดที่สูงเป็นเวลานานจากสถิติที่คุณหมอนิพนธ์พบทำให้ทราบว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นโรคหลอดเลือดจากความดันโลหิตสูง เพราะอาหารที่รับประทานส่วนใหญ่จะต้องจิ้มน้ำจิ้มรสเค็ม หรือซุปส่วนใหญ่จะต้องใส่ซอส ทำให้มีโซเดียมในเลือดมาก
4. นอนกรน
การนอนกรนทำให้สมองขาดออกซิเจนเมื่อไม่มีออกซิเจน สมองก็ทำงานไม่ได้และทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองข้นหนืดไหลเวียนไม่สะดวก จนอุดตันเส้นเลือดในที่สุด แต่กรณีนี้จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้ระยะเวลานานทางที่ดีผู้ที่มีปัญหานอนกรนควรปรึกษา แพทย์เพื่อรักษาอาการนอนกรนไม่ให้ลุกลามดีกว่าค่ะ
5. ความเครียด
อีกหนึ่งตัวการที่มีแนวโน้มพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเครียดจากการทำงาน หากทำงานติดต่อกันโดยไม่พักจะทำให้ความดันเลือดเพิ่มและหัวใจเต้นเร็วขึ้น



การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วย + เสี่ยงป่วยแบบชีวจิต
1. รับประทานอาหารชีวจิตสูตร 2
คือ ข้าวไม่ขัดขาว 30 เปอร์เซ็นต์ของอาหารหนึ่งมื้อ ผักสดและดิบ 35 เปอร์เซ็นต์โปรตีนจากพืช 25 เปอร์เซ็นต์ และอาหารเบ็ดเตล็ดอีก 10 เปอร์เซ็นต์ (เช่น งาสด งาคั่ว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม สาหร่าย)
2. ออกกำลังกาย
อาจารย์สาทิสบอกว่า เมื่อรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลน้อยแล้ว ก็ต้องกำจัดคอเลสเตอรอลที่สะสมในตัวออกไปด้วย โดยการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน และต้องให้ได้พีค คือ 1. เหงื่อออกโซมกาย 2. หัวใจเต้นแรง 3. ชีพจรเต้น 120 ครั้งต่อนาทีสาเหตุที่ต้องออกกำลังกายให้ได้พีคเพราะร่างกายจะหลั่งโกร๊ธฮอร์โมนออกมาจะทำให้รู้สึกแข็งแรงและสบาย หากไม่รู้ว่าจะออกกำลังกายด้วยวิธีใดแนะนำให้รำกระบอง เพราะจะได้บริหารร่างกายและออกกำลังกายที่ครบถ้วนไปพร้อมกัน
3. เสริมวิตามินและเเร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
ด้วยการรับประทานวิตามินที่ช่วยบำรุงการทำงานของสมองให้ดีขึ้นคือ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 อย่างละ1 เม็ด เช้า เย็น และเลซิทินอีก 1 เม็ดต่อวัน
ที่มา : คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต

logoline