svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

07 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คงไม่เพียงร่างไร้ลม ที่สิ้นสูญในแผ่นดินที่เป็นหัวใจ แต่วิญญาณแห่งขุนเขาของบิลลี่ ยังกรุ่นกลิ่นความหวังไปทั่วแผ่นดินปกาเกอะญอ แม้ว่า "ปู่คออี้" รากเหง้าและจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ได้ลาโลกไปแล้วด้วยวัย 107 ปี ช่วงปีที่ผ่านมาด้วยความชราภาพ หากรากแห่งความเป็น "คน" ที่ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง ก็คือยอดดอกใบที่กำลังชู่ช่อ

นี่หมายความว่า แม้"บิลลี่" พอละจี รักจงเจริญกลายเป็นหนึ่งยอดใบที่โดน "เด็ดทิ้ง" แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อย่าลืมว่าพืชพรรณหลายชนิด ยิ่งเด็ดยอด ยิ่งแตกกิ่ง รอแค่เวลาเท่านั้น

เราได้แต่หวังว่า พลังแห่งผืนป่าในใจบิลลี่ ยังคงวนเวียน สูบฉีดอยู่ในเส้นเลือดของพี่น้องร่วมแดนดินของเขาทุกๆ คน!

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

ผืนป่าที่เป็นบ้านเกิด เรือนตาย

วันนี้คำถามว่า "ฆ่าบิลลี่ทำไม" ที่กำลังดังกึกก้องไปทั่วประเทศ แม้เรามองตาก็รู้คำตอบแต่ก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ทำไมภาพของกะเหรี่ยงที่ถูกฉายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามักถูกมองว่าเป็นตัวการผู้ตัดไม้ทำลายป่าตัวจริง

ทั้งที่เราต่างรู้ว่ามีข้อมูลมากมายที่ย้อนแย้งกับภาพเหล่านี้ หรือมันจะมีอะไรมากกว่านั้น

เรียบง่าย-ชัดเจน

คำถามที่ไร้คนตอบ ต่อให้สำคัญแค่ไหนก็ป่วยการที่จะรอ แต่เรื่องจริงที่คนไทยหลายคนที่ยังไมรู้และควรทำความเข้าใจใหม่ คือชนชาวกะเหรี่ยงอาจไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอย่างที่ "ถูกทำให้ใช่"

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

ผืนป่าแก่งกระจาน บ้านบิลลี่ และครอบครัวปกาเกอะญอต้นน้ำเพชรฯ

เชื่อหรือไม่ว่ากลุ่มชนที่คนไทยเรียกว่าชาวกะเหรี่ยง (หรือ กาเรน กะยีนหรือ คนยาง ในภาษาเมียนมาร์และมอญ) กลุ่มคนที่เราเผลอพูดโดยไม่คิดว่าคือ "ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา"มีแบบแผนการดำรงชีวิตของกลุ่มที่แม้จะเรียบง่าย สมถะ แต่ก็แข็งแรง เคร่งครัด

กะเหรี่ยงในไทยมี 4 กลุ่มย่อยคือสะกอหรือยางขาว เรียกตัวเองว่าปกาเกอะญอเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด "โป"เรียกตัวเองว่า "โพล่"ส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน"ปะโอ"หรือ "ตองสู"อาศัยอยู่ในเขตจ.แม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับ "บะเว"หรือ "คะยา"ก็อยู่ในแหล่งเดียวกัน

แต่โดยทั่วไปเราจะพบชนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ใน 15 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งรวมถึง จ.เพชรบุรีด้วย

อย่างไรก็ดีชนกะเหรี่ยงนั้นที่จริงไม่ได้อาศัยอยู่บนที่สูงเสียทั้งหมด บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบทั่วไปและยังนิยมตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่นิยมย้ายถิ่นบ่อยๆ

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

ขณะเดียวกันบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเป็นบ้านยกพื้น มีชานบ้าน หรือไม่ก็ใช้เสาสูง ซึ่งแตกต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่นิยมสร้างบ้านชั้นเดียว พื้นติดดิน เช่น ชาวม้งหรือชาวเมี่ยนเป็นต้น

ส่วนระบบครอบครัวการเลือกคู่ครองนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เลือกชายก่อน และบางครั้งฝ่ายหญิงก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแต่งงาน และเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวไม่มีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นอันขาด การหย่าร้างมีน้อย

สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ แต่ฝ่ายชายต้องอยู่บ้านพ่อแม่ภรรยา 1 ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงปลูกบ้านใกล้พ่อแม่ฝ่ายภรรยาถ้ามีลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อแม่

หัวใจผืนป่า

ว่าตรงกันว่าชาวกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเป็นอย่างดีดังนั้นเมื่อพวกเขามีชีวิตแบบพึ่งพาน้ำ พึ่งพาป่า "ป่า" จึงนับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขารักและหวงแหนไม่แพ้นักอนุรักษ์ที่ไหน

มีข้อมูลว่าชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง แบ่งป่าเป็น 4 ประเภท คือ"ป่าต้นน้ำ"และ"ป่าอนุรักษ์"ซึ่งสองป่านี้ชาวปะกาเกอะญอจะให้ความสำคัญและอนุรักษ์เป็นอย่างมากจะมีการพึ่งพิงป่านี้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้นเช่น การหาสมุนไพรรักษาโรค การหาสีย้อมผ้า และการล่าสัตว์ขนาดเล็กเป็นต้น

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

ผู้หญิงและเด็ก อยู่บ้านอยู่เรือน ผู้ชายไปหางานทำในเมือง

ส่วน"ป่าใช้สอย"พวกเขาจะเอาไม้ในป่ามาใช้งานเช่น ทำเครื่องจักสาน สร้างบ้าน ส่วน"ป่าทำกิน"เป็นป่าที่เอาไว้ทำไร่ปลูกพืชบริโภค สร้างรายได้

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

หากชนกะเหรี่ยงลึกซึ้งกว่าที่คิดเพราะพวกเขาจะมีการเลือกทำเลทำไร่ โดยตั้งกฎว่าห้ามทำไร่ในเขตต้นน้ำหรือตาน้ำ ห้ามทำไร่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ห้ามทำไร่บนยอดเขา


'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

และเมื่อทำไร่เสร็จในปีนั้นก็ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นดินมีโอกาสฟื้นสภาพป่า มีข้อมูลว่าโดยมากชาวบ้านจะทำไร่ 7 แปลง และจะเวียนทำไร่ปีละ 1 แปลงโดยกว่าจะทำให้ครบ 7 แปลง ก็จะวนกลับมาแปลงที่ 1 อีกรอบ

บางสถานการณ์ก็จะทำ 3-4 แปลง แล้วแต่สภาพเอื้ออำนวยรูปแบบนี้เรียกว่า"การทำไร่หมุนเวียน"ที่สภาพดินและป่าจะกลับมาสมบูรณ์ภายหลัง แตกต่างจากการทำ"ไร่เลื่อนลอย"ที่พวกเขาถูกยัดเยียดว่าทำมาตลอด

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

เด็กน้อยน่ารักแห่งบ้านบางกลอย แก่งกระจาน

ทั้งนี้กะเหรี่ยงจะปลูกข้าวแบบผสมผสาน คือมีพืชผักหลายชนิดปลูกลงบนแปลง เช่น ผัก พริก เผือก มัน ฯลฯ เพราะพืชผักบางชนิดเป็นตัวล่อแมลง เป็นอาหารของแมลงอีกชนิด ถือเป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลง

ยิ่งเรื่องผืนป่าแล้วมีข้อมูลว่า "ปู่คอี้" เคยเล่าว่าในช่วงชีวิตพรานไพรสมัยวัยหนุ่ม มีสัจจะที่ยึดถือมาตลอดชีวิตว่าเวลาเข้าป่าสิ่งที่ต้องระวังมากคือเรื่องของคำพูด อย่าลบหลู่ป่าเขา เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกที่

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

"ปู่คอี้" รากเหง้า รากวิญญาณ ของกะเหรี่ยงต้นน้ำเพขร ผู้จากไป


ช่วงที่ออกไปล่าสัตว์ปล่อยให้ผู้หญิงและเด็กอยู่บ้าน หากมีอะไรไม่เหมาะสมในหมู่บ้านเสือจะมาคำราม เรื่องนี้ปู่คออี้ยังเล่าว่า ตนนั้นเคยเจอเสือหลายครั้ง แต่ไม่เคยยิงเสือเลย เช่นเดียวกับช้างก็ไม่เคย

กะเหรี่ยงต้นน้ำเพชร

อย่างที่รู้กระเหรี่ยงในหมู่บ้านของปู่คออี้ พวกเขาอยู่ตรงนั้นมาชั่วนาตาปี มีวีถีทำมาหาเลี้ยงชีพทำไร่ข้าวหมุนเวียน (เวียนประมาณ 2 ปี) และพืชผสมผสาน โดยมีไร่ห่างออกจากตัวบ้านไปราว 1 ชม.เดินเท้า

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

แต่ทุกวันนี้ปัญหาหลักของกะเหรี่ยงแก่งกระจานคือการไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ คนในหมู่บ้านบางส่วนยังไม่ได้สัญชาติไทย แม้แต่ปู่คออี้เองเพิ่งได้บัตรประชาชนไทยเอาก่อนเสียชีวิตเพียง 3 เดือน

กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอรุ่นใหม่ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างในเมือง มีเพียงผู้หญิงเด็กและคนชราไว้ในหมู่บ้าน

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

บิลลี่กับครอบครัว


ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็คงเหมือนภาคบังคับให้ไล่ดูย้อนขึ้นไปถึงช่วงปี 2524 หลังมีเขื่อนแก่งกระจาน บริเวณนั้นมีการประกาศให้พื้นที่แก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

พอปี 2539 ทางการให้กะเหรี่ยงตรง "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย พวกเขาทั้งหมดหลายสิบครอบครัว หลายร้อยชีวิตต้องจำใจย้ายลงมาตามคำสั่ง

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

ภรรยาและลูกๆของ บิลลี่

แต่ในที่สุดเมื่อความรู้สึกมันบอกว่า "ไม่ใช่บ้าน" ปู่คออี้และครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน

นับแต่นั้นรอยปริแยกก็เดินทางมาจนถึงปี 2554 เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน "ปราบปรามหนัก" ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เผาทำลายบ้านเรือนหลายครอบครัวจนกลายเป็นคดีดัง ชาวบ้านเข้ายื่นฟ้องในปี 2555

แต่เรื่องนี้จบลงไปแล้วเมื่อปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้พวกเขาทุกคน

ส่วนเรื่องที่ยังไม่จบคือการหายตัวไปของหลานชายแท้ๆ วัย 31 ปีของปู่คออี้ในวันที่ 17 เมษายน 2557ผู้คนพากันเชื่อมโยงกับการที่บิลลี่เป็นพยานปากสำคัญและเป็นผู้ประสานงานในดคีปี 2554

'บิลลี่' เขาอยู่ที่นี่

แม้จะเป็นนักต่อสู้เพื่อมวลขน แต่ "บิลลี่" ยังเป็น สมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

หากเส้นทางเดินของนักต่อสู้ หลายคนมักจบแบบนี้บิลลี่ก็คือนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สู้เพื่อให้ได้กลับไปใช้ชีวิตตามวิถีเดิม ไม่มากไปกว่านี้

แต่การที่เขาเหลือเพียงชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่พบเอาตอนที่ผ่านมาถึง 5 ปีหลายคนเชื่อว่าบิลลี่เข้าป่าไปหนนั้น คงไม่ได้ไปเจอ"น้ำผึ้งป่า"อย่างเดียว

logoline