svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

อยู่อย่างเสือ "สนธิ" ยังสู้ไหว?

07 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คงไม่เกินไป ถ้าจะพูดว่า หากคนคนหนึ่งจะทำอะไรได้สักอย่างสองอย่างในชีวิต ก็นับว่าใช้ได้แล้ว แต่ชายวัย 70 อย่าง "สนธิ ลิ้มทองกุล" ก็คงเป็น "โคตรคน" ที่ทำมานับไม่ถ้วน วันนี้เส้นทางของเขาแม้จะเข้าสู่ "วัยชรา" อันมีผลให้เจ้าตัวได้อิสรภาพ เพราะมีคุณสมบัติครบตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2562 จึงได้รับการปล่อยตัว

++

แต่เรื่องราวของเขาก็ยังมีมุมให้ติดตามเรื่อยๆ โดยเฉพาะเราอดคิดไม่ได้ว่า คนอย่างสนธิ จะกลับมาเกี่ยวข้องทางการเมืองในทางใดทางหนึ่งอีกหรือไม่

เพราะนี่คือภาพจำ ในส่วนเสี้ยวที่มากสุดของชีวิตชายคนนี้ที่เราคนไทยเห็นมาตลอด

++


เจ้าพ่อสื่อ


"สนธิ ลิ้มทองกุล" หรือชื่อเดิมว่า ตั๊บ แซ่ลิ้ม แน่นอนภาพติดตาคนไทยเขาเป็น "เจ้าพ่อสื่อค่ายผู้จัดการ" ย่านพระอาทิตย์ หลังเรียนจบกลับมาจากอเมริกาในปี 2517 สนธิไปเจอ ณรงค์ เกตุทัต (บุตรชายของ รมช.คลัง ในรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะนั้น) ชวนให้ไปเป็นผู้จัดการการเลือกตั้งให้คนในสังกัด ตอนเลือกตั้งทั่วไปปี 2518

ช่วงนั้นเองที่สนธิได้เข้าไปเป็น บก.บห. หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เพราะ ณรงค์ เกตุทัต ก็เป็นเจ้าของอยู่สื่อด้วย แต่จะด้วยเหตุใดมิอาจทราบ สนธิทำอยู่ไม่ถึงปีก็ลาออก แล้วมาร่วมกับ "พอล สิทธิอำนวย" ตั้งบริษัท Advance Media ในเครือพีเอสเอกรุ๊ป ทำหนังสือ "ดิฉัน" แต่ไปต่อไม่ไหว เลยขายกิจการให้แก่ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา

ราวปี 2526 สนธิตั้งบริษัท ตะวันออกแมกกาซีน ทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายเดือน และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์

หลังจากนั้น คนไทยก็ได้เห็นความสำเร็จอย่างรุ่งโรจน์ของสื่อในมือสนธิ และก็ได้เห็นความผุกร่อนในเวลาต่อมา เมื่อราวปี 2543 ศาลให้สนธิ เป็นบุคคลล้มละลาย


จนปี 2546 เขาเลยส่งมอบการบริหารธุรกิจในเครือผู้จัดการให้แก่ จิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชาย

++


คั่วการเมือง


แน่นอนเมื่อผ่านความเป็นเจ้าพ่อสื่อที่บริหารองค์กรแบบ "ไปสุดขั้ว" ทั้งขาขึ้นและขาล่อง พอหันมาทางการเมือง เราก็ได้เห็นว่าสนธิก็ได้ใช้บทบาทความเป็นสื่อได้อย่างเต็มแม็กเหมือนกัน

ช่วงหนึ่งสนธิทำสื่อแบบกล้าชนไม่กลัวตาย เคยลุยทำข่าวช่วง 6 ตุลา 19 ปลอมตัวเป็นสื่อดาวสยามเข้าไปเก็บภาพในธรรมศาสตร์ หรือเคยออกแท็บลอยด์ 3 วัน แฉเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" 2535 จนต้องหนีตายไปต่างประเทศ

ราวปี 2544 ได้ทำรายการโทรทัศน์ "เมืองไทยรายวัน" ทางช่อง 9 ในยุคที่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ผอ.อสมท พอดี

ภายหลังรายการประสบปัญหาค้างชำระกับทางช่อง จึงถูกถอดออก พอปี 2546 ย้ายไปวันศุกร์ กลายเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์" แต่ไปๆ มาๆ เนื้อหารายการกลับพลิกไปเป็นหนังคนละม้วน พอปี 2548 รายการเลยถูกระงับออนแอร์ และถูกฟ้องร้องโดยเสี่ยแม้ว ทั้งแพ่งและคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท

สนธิจึงออกมานอกสตูฯ กลายเป็น "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" จัดเวทีนอกสถานที่ มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลทักษิณโดยเฉพาะ ทั้งยังตั้งตนเป็น "ยามเฝ้าแผ่นดิน"


++


ปรากฏการณ์สนธิ


ด้วยลีลาของคน "จัดแรง จัดจริง" และทุนเดิมที่มีแฟนคลับมหาศาลติดตามมาแต่ต้น ผสานด้วยบุคลิก และความน่าเชื่อถือของคนที่เรียนและรู้ประวัติศาสตร์มาอย่างแน่น ช่วงนั้นคนไทยจะเรียกว่าเป็น "สนธิฟีเวอร์" ก็ว่าได้ 

ที่สุดก็ก่อตัวเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง และยังได้หลายองค์กรทั่วประเทศมาร่วมเฮด้วย หลังตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิงส์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549

การชุมนุมต่อเนื่องมาอย่างร้อนแรงจน นำมาสู่ เหตุการณ์สำคัญในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ส่งผลให้รัฐบาลไทยรักไทยปิดฉากลง


แต่อย่างที่รู้ แม้ว่าจะมาถึงเป้าหมายแล้ว แต่ภารกิจของเขาไม่เคยจบ เมื่อเครือข่ายทางการเมืองของทักษิณกลับมาในพรรคชื่อใหม่ สนธิและผองเพื่อนก็ยังคงเดินหน้าตามพันธกิจเดิม

จนกระทั่ง 17 เมษายน 2552 ตีห้ากว่าๆ สนธิถูกรุมยิงตอนนั่งรถไปทำงาน กระสุนถูกบริเวณคิ้ว, หน้าอกและแขน รักษาตัวกันพักใหญ่


เฉียดตายรอดมาได้ คราวนี้สนธิได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรคเป็นหัวหน้า "พรรคการเมืองใหม่" เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 แต่ก้นหม้อยังไม่ทันดำ เขาก็ลาออกในปีต่อมา ไม่มีใครรู้สาเหตุ

แต่ที่แน่ๆ ในการเลือกตั้ง 2554 เครือข่ายของทักษิณกลับมาอีกครั้งในนามรัฐบาลพรรคเพื่อไทย...ซะอย่างนั้น

++


อยู่อย่างเสือ?


เกิดเป็นเสือ ต้องทำแบบเสือ แม้สนธิและพวกยังเคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มการเมืองค่ายแดงไปเรื่อยๆ เพียงแต่เส้นทางมวลชนวงนอกไม่ค่อยเอาด้วยเท่าเดิม

ภาพของเสือยุคหลังที่เราได้สัมผัส จึงเป็นการเดินขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีต่างๆ ทั้งที่สืบเนื่องจากการเมือง และทั้งที่มาจากการประกอบกิจการสื่อ


ดังนั้นหลังเกิดรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนธิจึงไม่ได้มีท่าทีต่อต้านหรือสนับสนุนใดๆ อย่างชัดเจน

แต่ที่แน่ๆ คดีเริ่มมีคำตัดสินออกมา โดยคดีความทางการเมือง "รอดหมด" ยกเว้นคดีทำเอกสารรายงานการประชุมเท็จค้ำประกันกู้เงินธนาคารกรุงไทย 1,078 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2539-2540 เรื่องนี้เป็นเสี้ยนที่สนธิไม่เคยบ่งออก

จนวันที่ 6 กันยายน 2559 ศาลฎีกาสั่งจำคุกสนธิ 20 ปีไม่รอลงอาญา เพิ่งมีอิสรภาพเอาเมื่อผ่านไป 3 ปี 1 เดือน วันที่ 4 กันยายน 2562 สนธิออกจากเรือนจำด้วยคุณสมบัติครบตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ตามที่เกริ่นไปนั่นแหละ


ส่วนภาพที่เราเห็นสนธิที่ศาลาอาญา อันเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกหลังออกจากเรือนจำ ก็ไม่ใช่เรื่องราวของเขา

ทางหนึ่งเป็นการเดินทางมาให้กำลังใจบุตรชายในคดีประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยศาลฎีกาพิพากษารอลงอาญา ลูกชายสนธิ กับพวกคนละ 3 ปี

แต่ทางหนึ่งก็คงเหมือนโชว์ตัว เพื่อสื่อว่า "ยังไหวอยู่" นั่นแหละ

เป็นอันว่าในที่สุด พ่อ-ลูกกลับมาพร้อมหน้าดังเดิม น่าคิดจริงๆ ว่าต่อไปจะมีทีเด็ดอะไรออกมา ทั้งในแวดวงสื่อ หรืออาจเป็นการเมืองก็ได้ใครจะรู้!

logoline