svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ประชุมรัฐมนตรีศก.อาเซียนเคาะ 4 เรื่องรองรับอุตสาหกรรม4.0

06 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จุรินทร์" ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เคาะแล้ว 4 เรื่อง ทั้งแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัลของอาเซียนในปี 2019 ถึง 2025 การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แนวทางการพัฒนาคน เพื่อรองรับ 4IR และการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลของ MSMEs

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 51 (AEM) ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระการประชุมในวันนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สามารถสรุปเป็นเบื้องต้นได้ คือเรื่องที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการทำงานตาม AEC Blueprint 2025 โดยได้เริ่มความเห็นชอบเอกสารรวม 4 ฉบับ คือ



ฉบับที่ 1 ก็คือเรื่องแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล ของอาเซียนในปี 2019 ถึง 2025



ฉบับที่ 2 ก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 



ฉบับที่ 3 ก็คือในเรื่องของแนวทางการพัฒนาคน เพื่อรองรับ 4IR 



ฉบับที่ 4 คือแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลของ MSMEs โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบให้ปฏิบัติและดำเนินการตามนี้


 

นายจุรินทร์ กล่าวว่าเฉพาะในเรื่องของด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนได้ไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้าน 4IR ซึ่งมีประเด็นเพิ่มเติมก็คือ ในเรื่องของ 4IR นั้น ไม่ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะเสาเศรษฐกิจของอาเซียนแค่เพียงเสาเดียว แต่ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอีก 2 เสา ที่เป็นความร่วมมือด้านของอาเซียนด้วยนั่นก็คือ เสาทางด้านสังคมและวัฒนธรรม และเสาทั้งด้านการเมือง และความมั่นคงด้วยซึ่งมันจะเกี่ยวพันกับ 4IR

 

ในประเด็นต่อมาก็คือประเด็นที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้มีการหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการที่จะเจรจากับคู่เจรจาทั้งหมด 12 คู่ด้วยกันในวันที่ 8 - 10 กันยายนนี้ 12 คู่ที่ว่านี้ ประกอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น อาเซียน-จีน , อาเซียน-เกาหลีใต้ , อาเซียน-ญี่ปุ่น , อาเซียน-อินเดีย , อาเซียน-ออสเตรเลีย , อาเซียน-นิวซีแลนด์ , อาเซียน-รัสเซีย ,อาเซียน-สหรัฐ ,อาเซียน-แคนาดา และอาเซียน-สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เป็นต้น


 

อย่างไรก็ตามในการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งนี้ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง 10 ประเทศอาเซียน จะได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างน้อยที่สุดก็ในประเด็นที่หนึ่ง 



ในเรื่องของการที่จะได้ผนึกกำลังกันในการเตรียมการรับมือกับอนาคตไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตสินค้าและบริการที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหรือว่าในเรื่องของการเตรียมรับมือเรื่องของคนที่จะต้องสามารถสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก


 

รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านการผลิตสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปนอกจากนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการส่งเสริมการค้าระหว่างกันในการเพิ่มตัวเลขการส่งออก การลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าซึ่งกันและกันรวมไปถึงการร่วมกันลดอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้านอกอาเซียนด้วย


 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประโยชน์อีกเรื่องนึงก็คืออาเซียนก็มีความตั้งใจ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในการที่จะเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีโดยเฉพาะ MSMEs นั่นก็คือ เอสเอ็มอีขนาดเล็กลงไปอีกได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองเข้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจยุคใหม่ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการพัฒนาตนเอง  



เพื่อที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปและก็เป็นการเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากรวมทั้งประชาชนในระดับฐานรากต่อไปด้วย


 

"อันนี้ก็จะเป็นภาพรวมทั้งหมดที่พอจะเรียนได้จากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อสักครู่ ส่วนในช่วงค่ำวันนี้การประชุมนัดถัดไปในช่วงอาหารค่ำก็จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนซึ่งเป็นภาคเอกชน ก็จะมีการประชุมร่วมกันในช่วงอาหารค่ำ " นายจุรินทร์ กล่าว



รายงานข่าวแจ้งว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นประธานดำเนินการประชุมอีกหลายวาระในทั้งหมด 3 กลุ่ม ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งกำหนดการของวันที่ 7 - 8 กันยายน 2562 จะเป็นประธานการประชุมอาร์เซ็ป หรือ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ 16 ประเทศ ที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย และนายจุรินทร์มีความพยายามร่วมกันที่จะให้การเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจกลุ่มนี้หาข้อสรุปให้ได้มากที่สุด


 

ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่การประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และตั้งเป้าหมายว่าจะให้การเจรจานี้เป็นที่ยุตินำไปสู่การลงนามในปีหน้า 



ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้าหมายและมีผลบังคับใช้จะทำให้ประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์มากคือมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลไทยคือต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศให้กับประชาชนฐานรากของสังคม

logoline