svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปมขัดแย้งผืนป่า "แก่งกระจาน" ตอน 2​ (จบ)​

05 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากสถานะไร้ตัวตน ทุกวันนี้เรื่องราวของหลายชนเผ่าและชนพื้นเมืองเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น แต่มากกว่าการมีตัวตน พวกเขากำลังต้องการการปกป้อ งก่อนที่เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้จะหายไปโดยไม่มีใครได้รับรู้เลย

บ้านไม้สองชั้นสร้างลักษณะไม่ต่างจากบ้านปาเกอญอ จะต่างไปก็เพียงแต่ว่าบ้านหลังนี้ไม่ตั้งอยู่กลางป่า แต่ตั้งอยู่ในชุมชนเมือง

เธอและลูกๆอีก 5 คนต้องย้ายเข้ามาอยู่ใกล้เมือง เพราะสะดวกในการส่งลูกไปเรียนหนังสือ รวมทั้งการเดินทางเข้ากรุงเทพไปติดตามความคืบหน้าคดีของสามีที่หายตัวไป การอยู่ในป่าอาจจะเดินทางออกมายากลำบาก

และท่ามกลางการผลักดันขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทั้งๆที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าสามีของเธอหายไปด้วยสาเหตุใด ความขัดแย้งในผืนป่าก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย

มึนอยืนยันว่า เธอไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่สำคัญที่สุดคือต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าดั้งเดิมให้ได้

ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่เข้าใจวิถีกะเหรี่ยงก็ยากที่ความขัดแย้งจะคลี่คลาย

สอดคล้องกับผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ เพียงแต่ว่า รัฐจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดต่อคนกะเหรี่ยงว่าไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แปลกแยกจากป่าและธรรมชาติ

การขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอาจเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายนั้นทบทวนแนวทางการบริหารจัดการพื้นป่าสมบูรณ์ผืนนี้ร่วมกัน

ด้วยมิติใหม่ๆภายใต้หลักการสากล ทั้งมิติทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติติพันธ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็เป็นไปได้

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทีมของเราขึ้นมาบนผืนป่าแก่งกระจานส่วนใหญ่ไม่ได้มาทำเรื่องกับความสมบูรณ์ของธรรมชาติ แต่มาทำเรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

ครั้งล่าสุดที่ขึ้นมาคือเมื่อปีที่แล้ว ครั้งนั้นปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของกะเหรี่ยงแก่งกระจานยังมีชีวิตอยู่ในวัย 109 ปี

"อยากให้ลูกหลานกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่อุทยานสามัคคีกัน" ป็นคำสั่งเสียงสุดท้าย ที่ปู่คออี้ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับทีมข่าวของเรา มาถึงวันนี้มันดูจะเป็นคำสั่งเสียที่ยังห่างไกลจากความเป็นจริง

จากสถานะไร้ตัวตน ทุกวันนี้เรื่องราวของหลายชนเผ่าและชนพื้นเมืองเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น แต่มากกว่าการมีตัวตน พวกเขากำลังต้องการการปกป้อ งก่อนที่เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้จะหายไปโดยไม่มีใครได้รับรู้เลย

บริเวณใกล้ต้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เราพบการปลูกข้าวไร่แบบไร่หมุนเวียน ของครอบครัวกะเหรี่ยงครอบครัวหนึ่ง เด็กๆ ที่เราถ่ายรูปด้วย 4 คนนี้ เป็นพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ครอบครัวนี้มีลูก 7 คน พี่ชายและพี่สาวคนโตไปเรียนในเมือง

ผู้หญิงอายุมี 40 ปีคนนี้คือแม่ และชายวัยเกือบ 50 ปีคนนี้คือพ่อ ทั้งคู่ย้ายมาจาก 'ใจแผ่นดิน' เมื่อ 20 ปีที่แล้ว วันนี้พวกเขาเพิ่งมีที่ทำกิน เป็นผลมาจากคำสั่งคสช. ที่ผ่อนปรนให้กับราษฎรที่อยู่ในเขตป่าทำกิน ก่อนปี 2557 ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้มีการรังวัดพื้นที่แนวเขต จัดทำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม มาอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ทำกินที่เห็นอยู่นี้ จะต้องไม่เกินขอบเขตที่เคยรังวัดไว้หลังปี 2557 และเมื่อคำสั่งคสช.ยกเลิกไปไม่นานนี้ กฎหมายที่จะมาคุ้มครองพื้นที่ทำกินของราษฎรในเขตป่าก็คือพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้หลังโปรดเกล้าฯ 180 วัน จะต้องกำหนดแนวเขตพื้นที่ทำกินของราษฎรในเขตป่า ให้แล้วเสร็จใน 240 วันหรือราวเดือน พ.ย. ปี 63

เหล่านี้ น่าจะเป็นตัวเชื่อมสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่พยายามผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น'มรดกโลก'

แต่การแก้ไขปัญหาที่ดินยังมีเรื่องให้คิดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ทำมาแต่ดั้งเดิมสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ

ถ้ารัฐจัดสรรที่ดินให้ 10 ไร่พวกเขาบอกว่ารับได้ แต่ 10 ไร่นี้ไม่ได้หมายความว่า จะเป็น 10 ไร่ที่ใช้ปลูกข้าวหรือทำการเกษตรทั้งหมด แต่ใน 10 ไร่นี้จะถูกแบ่งทำการเกษตรแบบหมุนเวียนทีละ 3 ไร่ เมื่อหมดรอบการผลิตก็จะเปลี่ยนหมุนเวียนไปใน 3 ไร่ที่อยู่ใน 10 ไร่ที่ได้รับจัดสรร

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันว่าจะใช้ขั้นตอนตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับล่าสุด ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว ที่ผ่านมาคำสั่งคสช.ส่งผลให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น 200 - 400 ไร่ โดยในปีหน้ายังคงยืนยันที่จะเดินหน้าเสนออุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไปและเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ จากการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

แต่การมุ่งแก้ปัญหาที่ดินตามพระราชบัญญัติอุทยานฯ อาจไม่เพียงพอที่ตอบคำถามต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกได้ ถ้ายังไร้คำตอบว่า ใครฆ่า "บิลลี่"

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline