svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปมขัดแย้งผืนป่า "แก่งกระจาน" ตอน 1

05 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความสมบูรณ์ของผืนป่าเกือบ 3 ล้านไร่ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2556 แต่การพิจารณาครั้งล่าสุดของยูเนสโก้ ก็ยังมีประเด็น ที่รัฐบาลไทยต้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติ่ม ไม่ใช่ประเด็นความสมบูรณ์ของพืนป่า แต่เป็นประเด็น ปัญหาสิทธิมนุษชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่


ภาพความสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง กล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบันทึกภาพของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด สะท้อนความสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานอย่างเห็นได้ชัด


ทีมข่าวของเราเดินทางเข้าไปสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่กระจานอีกครั้ง ใช้เวลาครึ่งวันจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ที่อยู่เหนือเขื่อนแก่งกระจาน ไต่ถนนลูกรังเข้าไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าแม่สะเรียง เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพาเรานั่งรถต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วนั่งเรือไปอีกต่อหนึ่งขึ้นไปยังต้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี


เรามาที่นี่เพื่อสำรวจแหล่งอาศัยของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่พบได้ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน


เจ้าหน้าที่พบการวางไข่ของเจ้าของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยครั้งแรกเมื่อปี 2550 ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะถูกตัวเหี้ย คุ้ยกินเป็นอาหาร จึงได้เก็บไข่ ไปอนุบาลเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ แม้นักนักอนุรักษ์จะไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะขยายพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติได้


เราเดินฝ่าพงหญ้าเข้าไปสำรวจท่ามกลางฝนที่ตกปรอยๆจนได้พบกับรังไข่จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย อย่างที่ได้ตั้งใจไว้แต่โชคร้ายที่เราเจอรังอยู่ในสภาพถูกรื้อคุ้ยกระจัดกระจาย เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะถูกตัวเหี้ยล้วงไข่ไปกินเป็นอาหาร


อย่างไรก็ตามการพบเห็นรังไข่จระเข้น้ำจืดเช่นนี้ก็ยืนยันให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และพร้อมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก


ความสมบูรณ์ของผืนป่าเกือบ 3 ล้านไร่ในกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 2556 แต่การพิจารณาครั้งล่าสุดของยูเนสโก้ก็ยังมีประเด็น ที่รัฐบาลไทยต้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติ่มไม่ใช่ประเด็นความสมบูรณ์ของพืนป่า แต่เป็นประเด็นปัญหาสิทธิมนุษชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่


ย้อนกลับไปเมื่อปี ปี 2539 ภาครัฐมีความพยายามที่จะจัดการกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงโดยการอพยพลงมา 57 ครอบครัวจำนวน 391 คน จากพื้นที่เรียกว่าใจแผ่นดินซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 โดยรัฐตกลงกับชาวบ้านว่าจะจัดสรรที่ดินให้ทำกินให้ครอบครัวละ 7ไร่ที่บ้านโป่งลึกบางกลอย


ต่อมาปี 2541 รัฐไม่จัดสรรที่ดินไม่พอทำกินชาวกะเหรี่ยงที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวน 25 คนกลับขึ้นไปทำกินในพื้นที่เดิม คือใจแผ่นดิน


กลางปี 2552 เจ้าหน้าที่อุทยานได้ดำเนินการปราบปรามเผาบ้านยูงข้าวของชาวบ้านจากใจแผ่นดิน และอพยพชาวกะเหรี่ยงอีกครั้งครั้งนี้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง


ในระหว่างที่เรื่องร้องเรียนกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมนายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจานหายตัวไปก่อนวันให้คำให้ปากคำศาลปกครองเพียง 1 วัน


ผ่านมา 5 ปีแล้วที่บิลลี่หายตัวไป เป็น 5 ปีที่รัฐพยายามจัดการปัญที่ดินกับชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในป่าด้วย พระราชบัญญัติอุทยาน พ.ศ.2562

ผู้ชายคนนี้คือ พี่ชายของ บิลลี่ เราได้พบกับ "เพชร รักจงเจริญ" ในวันที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯมารังวัดแนวเขตพื้นที่ตามมติครม.31 มิ.ย.41 และพื้นที่ผ่อนปรนตามคำสั่งคสช.เพื่อจะรองรับสิมธิ์ ตามพระราชบัญญัติอุทยานฉบับใหม่


เพชร บอกว่าถ้ามีที่ทำกินให้อย่างนี้เขาก็จะปักหลักอยู่ที่นี่ ไม่คิดกลับไปใจแผ่นดินแต่เมื่อถามเรื่องเกี่ยวกับน้องชายที่หายตัวไป เขาบอกแต่เพียงว่า 'ผมไม่รู้' เป็นคำตอบท่ามกลางเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ยืนอยู่รายล้อม


ในฐานะนักข่าวเราไม่ใช้ผู้ตัดสินอีกเช่นเคย เจ้าหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของชาวบ้าน ในวันที่เราลงไปทำข่าว เราไม่ได้เห็นภาพบาดแผลของความขัดแย้ง


แต่เรารู้ดีว่ามันเป็นความขัดแย้งหลบในตราบใดที่ปริศนาหลายเรื่อง ไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้


ภาพของการให้ความร่วมมือก็เป็นแค่ ภาพเบื้องหน้าส่วนเบื้องหลัง ไม่มีใครรู้ว่าใครคิดอะไรและยังคงเป็นเรื่องราวที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป

logoline