svasdssvasds
เนชั่นทีวี

บันเทิง

3 ก.ย.2544 แฟนเพลงเศร้า "ราชาโฟล์คซองคำเมือง" ลาโลกกะทันหัน

03 กันยายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

3 ก.ย.2544 "ราชาโฟล์คซองคำเมือง" ลาโลกกะทันหัน ก่อนที่จะพาจรัลไปโรงพยาบาล เขาก็ได้สิ้นใจในอาการอย่างคนหลับสนิท ศีรษะทับอยู่บนแขนข้างซ้าย แขนขวาของเขาแนบไปกับลำตัว ร่างทั้งร่างทอดกายนิ่งสงบ

เชื่อว่าหลายคนยังรู้สึกว่า เขาไม่เคยหายไปไหน สำหรับจรัล มโนเพ็ชร"ราชาโฟล์คซองคำเมือง"ศิลปินชาวไทยที่เราชื่นชอบและยอมรับในฝีมือ


นั่นเพราะไม่เพียงงานของเขายังคงปรากฏอยู่มากมายในหลากหลายสื่อ ทั้งเพลง ดนตรี ละคร แต่บทเพลงของเขาหลายคนก็ยังคงเปิดฟังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงอยู่ดีว่าวันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน ตรงกับวันที่ 3 กันยายน 2544 คือวันที่นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักแสดงที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ได้จากพวกเราไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นการจากไปอย่างกะทันหันชนิดที่ไม่เคยมีใครเตรียมใจมาก่อน

วันนี้ในอดีต จึงขอนำเสนอปประวัติและผลงานเพื่อเป็นการรำลึกถึงศิลปินล้านนาผู้นี้อีกครั้ง

กำเนิดศิลปิน


จรัล มโนเพ็ชร เกิดที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในย่านที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ บิดาเป็นข้าราชการอยู่ที่แขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อสิงห์แก้ว มโนเพ็ชรส่วนแม่ชื่อเจ้าต่อมคำ (ณ เชียงใหม่) มโนเพ็ชรสืบเชื้อสายมาจากราชตระกูลณ เชียงใหม่

จรัลเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 เป็นลูกคนที่สองในจำนวนพี่น้องชายหญิงรวม 7 คน ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป

3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กhttp://สถานีเพลง จรัล มโนเพ็ชร


แต่จริงๆ แล้วพ่อหน้อยสิงห์แก้วเคยเล่าไว้ว่า ท่านมัวตื่นเต้นกับลูกชายคนแรก เลยลืมไปแจ้งการเกิดของลูกชายที่อำเภอ กว่าจะนึกได้ก็นานเกินเดือนหลังจากนั้น เมื่อไปที่อำเภอ เขาเลยแก้ปัญหาให้ง่ายๆ 1 มกราคม

ด้วยครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ ด้วยการใช้พรสวรรค์ในด้านงานศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษ ทั้งการเขียนรูป และการแกะสลักไม้จรัลเองก็เรียนรู้่งานและสามารถช่วยบิดาทำงนได้ตั้งแต่วัยเด็ก

ชีวิตวัยเรียนจรัล เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนพุทธิโสภณ และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมตตาศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ จรัลเป็นนักเรียนที่มีประวัติการเรียนดีมากสอบได้ที่ 1 มาตลอด สอบได้ที่ 2 เพียงครั้งเดียว เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ด้วยใจที่รักในเสียงดนตรี จรัลเริ่มหัดเล่นเปียโนเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 2 เล่นซึงเมื่อเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 เล่นกีตาร์เมื่อเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ตีขิมได้เมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 จรัลได้รับความสนับสนุนทั้งจากทางบ้าน

และช่วงวัยโจ๋นี่เอง ที่เขาสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการทำงานหารายได้พิเศษ ด้วยการรับจ้างร้องเพลง และเล่นกีตาร์ตามร้านอาหาร หรือตามคลับตามบาร์ในเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง

แน่นอน แนวดนตรีที่เขาชอบเป็นพิเศษคือ ดนตรีโฟล์คคันทรี และบลูส์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา


จนเมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัย จรัลเข้าทำงานรับราชการเป็นงานแรกที่แขวงการทางอำเภอพะเยา (เวลานั้นพะเยายังไม่ได้รับการยกให้เป็นจังหวัดเหมือนในปัจจุบัน)

ต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่บริษัทไทยฟาร์มมิ่ง และที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และแน่นอนเช่นกันที่เขายังไม่ทิ้งสิ่งที่รัก นั่นคือการร้องเพลง เล่นดนตรี จรัลยังคงไปเล่นตามร้านอาหาร ตามโรงแรมและคลับบาร์ในเชียงใหม่เช่นเคย และเริ่มมีชื่อเสียง

เส้นทางแห่งความสำเร็จ


ช่วงนั้นราวๆ ปี 2520 ที่งานดนตรีของจรัล เริ่มได้รับการยอมรับ และติดตามถามไถ่จากผู้คน เพราะเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ สร้างสรรค์ภาษาถิ่นเหนือคำเมือง ไม่เหมือนใคร โดยเรียกกันว่า "โฟล์คซองคำเมือง" มากไปกว่านั้นคือสิ่งนี้ได้กลายเป็นแบบอย่างบนแนวทางดนตรีท้องถิ่นร่วมสมัยในปัจจุบัน

ผลงานเพลงของจรัลที่โด่งดังและได้รับความนิยมมาก คือ

- "อมตะ 1" เพลงเอกได้แก่ อุ๊ยคำ, ของกิ๋นคนเมือง


- "อมตะ 2" เพลงเอกได้แก่ ก้ายง่าว, แอ่วสาว


- "เสียงซึง ที่สันทราย" เพลงเอกได้แก่ เมืองเหนือ, กลิ่นเอื้องเสียงซึง


- "จากยอดดอย" เพลงเอกได้แก่ จากยอดดอย, มิดะ


- "ลูกข้าวนึ่ง" เพลงเอกได้แก่ ตากับหลาน, มะเมียะ


- "แตกหนุ่ม" เพลงเอกได้แก่ ดอกฝ้าย, บ้าน


- "อื่อ...จ่า..จ่า" เพลงเอกได้แก่ อื่อ...จ่า..จ่า.


- "บ้านบนดอย" เพลงเอกได้แก่ ลุงต๋าคำ, ม่อฮ่อม


- "เอื้องผึ้ง จันผา" เพลงเอกได้แก่ เอื้องผึ้ง จันผา, แม่ค้าปลาจ่อม


โฟล์คซองคำเมืองของจรัลไม่เพียงได้รับความนิยมชมชอบจากชาวเหนือหรือชาวล้านนา ซึ่งเข้าใจภาษาคำเมืองภาษาท้องถิ่นของตน แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวไทยภาคอื่นๆ ไปจนถึงชาวต่างชาติ จนจรัลได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"

3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กhttp://สถานีเพลง จรัล มโนเพ็ชร


จรัลแต่งเพลงไว้กว่า 200 กว่าเพลงในช่วงเวลาราว 25 ปีของชีวิตศิลปินของเขาแต่บรรดาครูเพลงในล้านนาที่จรัลมักเรียกว่า "ฤๅษีทางดนตรี" เพราะเพลงของเขาแปลกแตกต่างไปจากดนตรีล้านนาที่เคยได้ยินได้ฟังกันมา

ทั้งนี้ เพราะจรัลใช้กีตาร์และแมนโดลินมาแทนเสียงซึง ใช้ขลุ่ยฝรั่งแทนขลุ่ยไทย และยังใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่อีกมากมาย มาบรรเลงบทเพลงเก่าแก่ของล้านนา ตามแบบฉบับโฟล์คซองคำเมืองของเขา

จรัลพูดว่า "บทเพลงแบบเก่าๆ นั้นมีคนทำอยู่มากแล้ว และก็ไม่สนุกสำหรับผมที่จะไปเลียนแบบของเก่าเสียทุกอย่าง"

และยังได้เคยพูดถึงการแต่งเพลงเองร้องเพลงเองของตนเองด้วยว่า

"มันเป็นงานที่เป็นตัวตนจริงๆแท้ๆจากใจ ในเมื่อผมเป็นนักร้องแต่ไม่อยากร้องเพลงของคนอื่น ผมจึงต้องเขียนเพลงของตัวเอง เป็นเพลงที่ผมอยากร้อง มันทำให้ได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ ไม่ต้องอาศัยให้ใครมาสร้างภาพลักษณ์"


ในยุคแรกๆ จรัลทำงานดนตรีร่วมกับพี่น้อง และญาติๆ ของเขาในตระกูลมโนเพ็ชร คือน้องชายสามคนที่ชื่อ กิจจาคันถ์ชิด และเกษม รวมทั้งมักจะมีนักร้องหญิงชื่อ "สุนทรี เวชานนท์" ร่วมร้องเพลงด้วย

แต่ต่อมาทั้งหมดก็แยกทางกันไปตามวิถีของแต่ละคน น้องชายทั้งสามของเขาต่างก็ยังคงเล่นดนตรีและร้องเพลง โดยที่ส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง

3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ส่วนสุนทรี เวชานนท์ แต่งงานกับชายชาวออสเตรเลีย จึงโยกย้ายไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง แต่ภายหลังเธอก็กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้กลับไปร่วมงานกับจรัลอีกต่อไป

บินเดี่ยว


ยุคหลังๆ เราจึงเห็นจรัล ทำงานแบบบินเดี่ยว และก็มิได้เป็นอุปสรรคใดๆ เพราะด้วยความสามารถอันสูงส่ง งานดนตรีของจรัลกลับพัฒนายิ่งขึ้น

จรัลทั้ง แต่งเพลงเอง ร้องเอง เล่นดนตรีเอง และยังเรียบเรียงเสียงดนตรีเองอีกด้วย ปี 2537เขาได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเมื่อปี ในฐานะ "บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา"


3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ต่อมาปี 2538 เขาได้รับรางวัลดนตรีสีสันอวอร์ด และยังเป็นศิลปินชายเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลถึงสามรางวัลในครั้งนั้น ทั้ง นักร้องชายยอดเยี่ยม จากเพลงศิลปินป่า อัลบั้มยอดเยี่ยม จากอัลบั้มชุดศิลปินป่า และบทเพลงยอดเยี่ยมจากงานชุดศิลปินป่า

ที่สุดช่วงหลังๆ จรัลโยกย้ายจากเชียงใหม่มาปักหลักที่กรุงเทพฯ และยังมีงานในแวดวงบันเทิง ทั้งรับแสดงหนังและละคร อีกทั้งยังแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์และละครเหล่านั้นด้วย

แน่นอนเราคนไทยได้เห็นบทบาทการแสดงของ จรัลมโนเพ็ชรแล้ว ก็ต้องยอมว่าเขาคือศิลปินโดยเนื้อแท้ความสามารถในด้านนี้ทำให้จรัลได้รับรางวัลทางด้านการแสดงอีกหลายรางวัล


3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ภาพจากhttps://www.chiangmainews.co.th/page/archives/472163


เช่น ปี 2539 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีการจัดทำดนตรีเรียกว่าดนตรีจตุรภาค โดยรวบรวมนักดนตรีฝีมือเยี่ยมจากทั่วทุกภาคในประเทศมาแต่งเพลงเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสนี้

จรัลเองขณะนั้นมีอายุเพียง 45 สิบห้าปีเท่านั้น แต่ก็ได้รับเชิญในฐานะครูเพลงภาคเหนือ เขาแต่งเพลงชื่อว่า "ฮ่มฟ้าปารมี"เป็นเพลงที่ไพเราะมาก จนทำให้ต่อมาแพร่หลายในวงกว้าง


ในที่สุดสถาบันการศึกษาด้านศิลปะการดนตรีจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเพลงนี้ไปใช้ประกอบการสอนในสาขานาฏศิลป์ด้วย และปัจจุบันนี้ได้มีผู้คิดท่าฟ้อนรำสำหรับบทเพลงนี้เช่นกัน เรียกว่า ฟ้อนฮ่มฟ้าปารมี

บั้นปลาย


ที่สุดช่วงชีวิตการทำงานศิลปะการดนตรีของจรัลเริ่มในปี 2520 และสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2544มีข้อมูลเล่าว่า ก่อนจะเสียชีวิต จรัลกำลังตั้งใจที่จะทำงานเพลงในโอกาสที่โฟล์คซองคำเมืองของเขายืนยาวมาถึง 25 ปีแห่งการทำงานเพลง เขาตั้งใจใช้ชื่อว่า "25 ปี โฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร"


โดยเป็นงานเพลงคำเมืองล้วน ๆ ทั้ง 10 เพลง ซึ่งได้กำหนดไว้ให้แสดงที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 25 ตุลาคม 2544

ทั้งนี้ ในคืนวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2544 จรัลขึ้นเวทีร้องเพลง ที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้เป็นคืนสุดท้าย ก่อนที่เขาจะกลับบ้านหม้อคำตวงที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมงานคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่ของเขา

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2544 จรัลต้องออกไปประชุมเพื่อฝึกซ้อมนักแสดงแต่เช้า เขากลับมาถึงในเวลาเที่ยงคืน และเดินเข้าไปในห้องครัวเพื่อหาอาหารกิน ซึ่งบุคคลใกล้ชิด บอกว่าปกติแล้วจรัลไม่มีนิสัยกินอาหารตอนดึก

3 ก.ย.2544  แฟนเพลงเศร้า  "ราชาโฟล์คซองคำเมือง"  ลาโลกกะทันหัน

ภาพจากhttps://www.chiangmainews.co.th/page/archives/472163


ก่อนเข้านอนคืนนั้นเขาได้บอกกับคนใกล้ชิดว่ารู้สึกปวดที่แขนข้างซ้าย ในเวลาประมาณตี 3 ของเช้าวันที่ 3 กันยายน 2544 จรัลได้เรียกคนใกล้ชิดและพูดอย่าง อ่อนแรงว่า "มันไม่บอกก่อนเลยนะ" "มันไม่เตือนก่อนเลยนะ"


และก่อนที่จะพาจรัลไปโรงพยาบาล เขาก็ได้สิ้นใจในอาการอย่างคนหลับสนิท ศีรษะทับอยู่บนแขนข้างซ้าย แขนขวาของเขาแนบไปกับลำตัว ร่างทั้งร่างทอดกายนิ่งสงบ (ข้อมูลจากhttps://www.lib.ru.ac.th/journal/chalun.html)

หลังทุกคนได้รับทราบข่าวร้าย คนไทยทั่วประเทศทั้งตกใจและโสกเศร้าผู้คนจำนวนมากจากทุกวงการเดินทางไปคารวะศพของเขา ซึ่งตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร


หลังการเสียชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร นอกจากการขนานนามที่เขาได้รับมาตลอดว่าเป็น ราชาโฟล์คซองคำเมือง แล้ว ผู้คนได้ยกย่องและเรียกเขาด้วยชื่อต่าง ๆ กัน

เป็นต้นว่าศิลปินล้านนาแห่งยุคสมัยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มหาคีตกวีล้านนาราชันย์แห่งดุริยะศิลป์นักวิชาการและนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมยกย่องให้ จรัล มโนเพ็ชร เป็นนักรบวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น


อนึ่ง ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า จรัล มโนเพ็ชรเกิดปี2494 และเสียชีวิตขณะมีอายุอายุ 50 ปี หากข้อมูลทั่วไประบุว่าเขาเกิดปี 2498 และเสียชีวิตขณะมีอายุ 46 ปี ซึ่งหากวันนี้ถ้าจรัล มโนเพ็ชร ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุ 64 ปี (หรืออาจจะ68 ปี)

logoline