svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

Nation Documentary | ฝันร้าย! มอเตอร์เวย์สายใต้

30 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทุกวันนี้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และที่มาพร้อมกับโครงการใหญ่คือรอยน้ำตาของชาวบ้าน ที่ควรมีสิทธิปกป้องทรัพยากรที่รักษาหวงแหนมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เหตุผลเหล่านี้แทบไม่มีใครรับฟัง เพราะความเห็นแก่ตัว ความสะดวกสบาย บดบังมืดมิด ชาวบ้านไม่ได้ขวางการพัฒนา แต่การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงข้อความในกระดาษหน้าหนึ่งเช่นนั้นหรือ...


ทุ่งนากว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา แซมด้วยต้นตาลสูงชะลูดขึ้นเป็นทิวแถวสวยงาม ที่นี่คือบ้านนาป่าตาล ในต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี

ที่ที่สงบเงียบและสวยงามแห่งนี้ไม่มีใครคิดว่า กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังกรมทางหลวง จะตัดถนนมอเตอร์เวย์นครปฐม ชะอำผ่านพื้นที่บริเวณนี้
ชาวบ้านเจ้าของที่ที่กำลังจะถูกเวนคืนที่ดิน มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ หลังรู้ว่าจะมีคนเข้ามาทำข่าว เมื่อเจอกัน เราถามคำถามแรก ได้ค่าเวนคืนเป็นเงินก้อน แลกกับที่เขาสร้างถนนไม่ดีหรอครับ คำตอบที่ได้รับ ออกมาพร้อมๆกับน้ำตาท่ามกลางน้ำตาของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการใหญ่ นี่ไม่ใช่โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการแรกที่ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ก่อนหน้านี้มอเตอร์เวย์โคราช ก็ได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และเราก็ได้เห็นความเจ็บปวดของคนในพื้นที่ไม่ต่างกัน แต่ท้ายที่สุดมอเตอร์เวย์โคราชก็เกิดขึ้น และจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้

บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เราเข้าใจว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ผลักดันโดยรัฐ แม้จะไร้การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ก็จะไม่มีชาวบ้านคนไหน สามารถต้านทานได้ และ คนเพชรบุรี ก็น่าจะซ้ำรอยเดียวกันกับ คนโคราช ที่ได้เคยทำข่าวมาหรือไม่ แต่มันคงจะเร็วไปที่ตอบคำถามนี้

เราจะอยู่ที่นี่ เพื่อทำความรู้จักกับคนเพชรบุรีให้มากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกัน การเวนคืนที่ดินในภูมิภาคอื่น ชาวบ้านอาจมีที่ดินกันคนละหลายสิบไร่ ซึ่งต่างจากชาวบ้านที่นี่ที่มีคนละ 2-3 ไร่

ที่มีที่ดินกันน้อยไร่ ก็เพราะว่าเมื่อก่อน คนที่นี่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวหนึ่งมีลูกกันหลายคน จึงแบ่งซอยที่ดินให้ลูกทุกคนเท่าๆกัน เช่นถ้ามี 10 ไร่ มีลูก 5 คนก็จะแบ่งได้ คนละ 2 ไร่ แม้ว่าแต่ละคนจะมีพื้นที่ในการทำมาหากินเพียง 2-3 ไร่แต่ ก็เป็นพื้นที่ที่สามารถทำเงินได้ถึงหลักแสนบาทต่อปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ตาลโตนดที่ชาวบ้านสามารถกำหนดราคาได้เองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เหมือนอย่างข้าว ยาง พารา หรือปาล์มน้ำมัน

ที่บ้านของ คนหนึ่งทุกเช้าจะต้องมาน้ำตาลสด จนได้เป็นน้ำตาลโตนดออกมา ปัจจุบัน น้ำตาลโตนด 1 กิโลกรัมจะมีราคาอยู่ที่ 70 - 100 บาท ขณะที่ต่อวันนั้นชาวบ้านสามารถที่จะเคี่ยวน้ำตาลขายได้เฉลี่ยวันละ 10-20 กิโลกรัม ก็จะได้เงินรายวันแล้ว วันละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 3 เท่า

แต่ทรัพยากรที่เป็นแหล่งรายได้ของพวกเขากำลังจะถูกทำลาย หากมีมอเตอร์เวย์ตัดผ่านชุมชน
ถ้าเหตุผลหนึ่งของการสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่าสวนทางและขัดแย้งกันอย่างชัดเจน เพราะว่ากำลังจะทำให้ต้นทุนชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่สูงขึ้น

รายได้ที่เคยได้ลดลงเพราะต้องเสียพื้นที่ทํากินไป นั่นเป็นเหตุผลที่มากพอที่คนเมืองเพชร จะลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างถึงที่สุด และอาจจะต่อต้านรุนแรงกว่านี้

ย้อนไปเมื่อ 2558 ชาวบ้านเพิ่งทราบว่าจะมีโครงการเกิดขึ้น มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเส้นทางนี้ ได้เสนอให้ทางหลวงใช้เส้นทางอื่นๆเช่นถนนหมายเลข 3510 เส้นอำเภอปากท่อ อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน ต.ยางชุม เพื่อลดผลกระทบต่อวิถีชีวิต

แต่ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่มาปักหมุดแนวถนนมอเตอร์เวย์เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทที่รับเหมางานปักหมุด ไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่ามาทำอะไร เกิดเป็นความไม่เชื่อใจระหว่างรัฐกลับประชาชนในพื้นที่ กระแสคัดค้านจึงรุนแรงมากขึ้น

กรมทางหลวงลุยไฟ "มอเตอร์เวย์สายใต้"

โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 เป็นทางตัดใหม่ระดับดิน เริ่มต้นจากอำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม ไปสิ้นสุดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีระยะทางรวม 115 กิโลเมตร

กรมทางหลวงชี้แจงว่า เป้าหมายโครงการ เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้

สามารถแบ่งเบาภาระการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสู่ภาคใต้ ที่มีความสะดวกรวดเร็วปลอดภัย ประหยัดเวลา และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน เนื่องจากการจราจรติดขัด ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนาและเติบโตภาคเศรษฐกิจตามระเบียงเส้นทาง และพื้นที่ข้างเคียง
ปัจจุบัน โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐมชะอำ บรรจุไว้ใน PPP Pipeline ของแผนยุทธศาสตร์ให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562-2564 ของสำนักงานกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง และต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ในการประชุมครั้งที่ 2/2560 ของคณะกรรมการบอร์ด PPP ได้อนุมัติเห็นชอบโครงการ เป็นโครงการนำร่องภายใต้มาตรการเร่งรัดโครงการที่จะชวนร่วมทุนในกิจการของรัฐ

อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแนวปฏิบัติด้านขนส่งคมนาคมระยะเร่งด่วนหรือ Action Plan ของกระทรวงคมนาคม

ชายคนนี้ สมบูรณ์ เทียนธรรมชาติ รองผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง บอกว่า โครงข่ายมอเตอร์เวย์ในประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาไปไกลแล้ว ในขณะที่โครงข่ายมอเตอร์เวย์ในภาคต่างๆของประเทศก็เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นจริงเป็นจัง ยกเว้นภาคใต้ซึ่งมีความพยายามมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2539 เคยมีโครงการทางพิเศษ บ้านโป่ง - ราชบุรี เพื่อเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะขนส่งลงมาจากกทม. เพราะว่าการพัฒนาถนนเพชรเกษมทำได้ยาก แต่ก็ล้มไป

ต่อมาปี 2545 ก็มีโครงการทางหลวงที่เรียกว่าแหลมผักเบี้ย แต่ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป ล่าสุดปี 2556 จึงเกิดโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐมชะอำ ซึ่งกำลังดำเนินการมาอยู่จนถึงวันนี้

ชาวเพชรบุรี ปฏิเสธคัดค้านการพัฒนา แต่มีข้อเสนอให้กรมทางหลวง ย้ายโครงการ ไปยังถนนทางหลวงหมายเลข หมายเลข 3510 อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งมีความเหมาะสมกว่าเนื่องมีผลกระทบน้อย ขณะที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐจะมีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงสายใต้ให้มีมากกว่าแค่ถนนพระราม 2 และเพชรเกษม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จึงถูกการคัดค้าน โครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน
กรมทางหลวงปฏิเสธ ข้อเสนอของชาวบ้านให้เปลี่ยนเส้นทาง ไปทางหลวงหมายเลข 3510 เพราะการสร้างถนนใหญ่ที่เป็นทางหลวงพิเศษ เปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ ที่ต้องวิ่งตรง ซึ่งถนน 3510 เป็นพื้นที่ติดภูเขามีจำนวนโค้งมาก ยืนยันเดินหน้า จัดกรรมสิทธิ์ก็จะมีการสำรวจราคากันต่อไป
ที่สุดแล้ว ชาวบ้านรู้ดีว่าตัวแทนกรมทางหลวงที่มานั่งรับฟังเสวนาในวันนี้ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ จึงเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้แทนจากประชาชนในพื้นที่ที่เลือกตั้งเข้าไปทำงาน นำปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้นครปฐม-ชะอำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตั้งกระทู้ถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เปลี่ยนเส้นทาง
ทุกวันนี้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย และที่มาพร้อมกับโครงการใหญ่คือรอยน้ำตาของชาวบ้านที่ควรมีสิทธิปกป้องทรัพยากรที่รักษาหวงแหนมาแต่สมัยบรรพบุรุษ เหตุผลเหล่านี้แทบไม่มีใครรับฟัง เพราะความเห็นแก่ตัว ความสะดวกสบาย บดบังมืดมิด ชาวบ้านไม่ได้ขวางการพํฒนา แต่การพํฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่เขียนไว้รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงข้อความในกระดาษหน้าหนึ่งเช่นนั้นหรือ

logoline