svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จับตารัฐเดินหน้า​ 'เหมืองถ่านหินอมก๋อย'​ บทพิสูจน์ข้าราชการไทยทำเพื่อใคร?

27 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตัวแทนชาวบ้านลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้ รู้สึกราวกับว่าข้าราชการเป็นตัวแทนของภาคเอกชนมาตอบคำถามเสียเอง และอยากให้แบ่งใจมาให้ทางชาวบ้านบ้าง หรือทำหน้าที่ให้เป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่

เวทีที่ใช้ชื่อว่า หารือ พูดคุย ให้ความรู้กับประชาชน กรณีเหมืองแร่ถ่านหิน บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ที่จะเข้ามาตั้งในพื้นที่ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมป่าไม้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าร่วม

เวทีวันนี้ไม่ใช่เวทีรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการของกฎหมาย แต่เป็นเวทีที่เกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งในพื้นที่ส่อเค้ารุนแรงอันเนื่องมาจากข้อมูลข่าวสารที่ชาวบ้านได้รับไม่เพียงพอ

นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ ได้พบและได้ฟังข้อมูลจากปากของหน่วยงานราชการด้วยตัวเอง และนี่ก็เป็นครั้งแรกอีกเช่นเดียวกัน ที่ผมได้เห็นเวทีการพูดคุยที่ต้องใช้ล่าม แปลจากภาษาไทยเป็นภาษากะเหรี่ยง บ่งบอกให้เรารู้ว่าการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้อาจจะมีปัญหาด้านการสื่อสารจริงๆ

พื้นที่ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ถ่านหินชั้นดี หรือที่เรียกว่า ซับบีทูบีนัส ซึ่งดีกว่าถ่านหินลิกไนต์ที่พบในจังหวัดลำปางที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่น

เหมืองถ่านหินแห่งนี้ ได้ยื่นคำขอใบประธานบัตรเมื่อปี 2543 หลังจากนั้นได้ดำเนินการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ.ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2554แต่เพราะว่าพระราชบัญญัติแร่ปี 2560 บังคับใช้ จึงต้องเริ่มต้นการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุมัติใบประทานบัตร อีกครั้ง

รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จัดทำขึ้นก่อนหน้านี้ พบข้อมูลที่ขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ พื้นที่เป้าหมายการทำเหมืองจำนวน 284 ไร่เศษ ถูกระบุว่าอยู่ในพื้นที่ป่าชั้น E ในขณะที่ชาวบ้านยืนยันว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1A ซึ่งไม่เหมาะกับการทำเหมือง ในพื้นที่มีลำห้วย 2 สายไหลผ่าน และถ้ามีการทำเหมืองเกิดขึ้นก็จะต้องมีการย้ายลำน้ำตามธรรมชาติ

เหมืองประชาสัมพันธ์ถึงข้อดี หากเหมืองเกิดขึ้นในพื้นที่ถนนหนทางที่เข้าไปสู่หมู่บ้านจะดีขึ้น จะเกิดการจ้างงาน แต่สิ่งที่ชาวบ้านเป็นกังวลมากที่สุดคือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่รับข้อมูลส่วนนี้ที่ชัดเจนเพียงพอ

ในขณะที่รายงาน EIA ฉบับดังกล่าว พบข้อพิรุธหลายประการ เราได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง ปีนี้เธอมีอายุ 24 ปี แต่เธอมีชื่อปรากฏอยู่ในผู้เห็นชอบการทำเหมืองใน EIA เมื่อปี 2543 ซึ่งตอนนั้นเธอมีอายุ 5 ขวบ เท่านั้น แต่กลับพบลายมือชื่อที่ไม่ใช่ของเธอ

ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นทนายความ ทำงานกับภาคประชาชนในพื้นที่บอกว่ารายงานฉบับนี้อาจเข้าข่ายการปลอมแปลงเอกสารราชการ หรือเป็นการทำ EIA เท็จ ซึ่งควรที่จะมีการทบทวนและเริ่มต้นกระบวนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ ก่อนที่จะเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นตามพระราชบัญญัติแร่ด้วยซ้ำไป แต่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าไม่ต้องจัดทำรายงานฉบับใหม่เพราะคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ได้เห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้ นี่จึงเป็นข้อถกเถียงที่ฝ่ายทนายของชุมชนจะต้องรวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะเอาผิด ทางแพ่งหรือทางปกครอง เพื่อยกเลิกรายงานฉบับดังกล่าวต่อไป

และมากไปกว่าข้อพิรุธในการจัดทำ EIA.คือท่าทีของหน่วยงานราชการต่างๆที่มาชี้แจงกับชาวบ้าน ในเวทีวันนี้ มีตัวแทนชาวบ้านลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้ รู้สึกราวกับว่าข้าราชการเป็นตัวแทนของภาคเอกชนมาตอบคำถามเสียเอง และอยากให้แบ่งใจมาให้ทางชาวบ้านบ้าง หรือทำหน้าที่ให้เป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่

ท่ามกลางนโยบายทวงคืนผืนป่าจากภาครัฐที่กำหนดให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนต้นน้ำชั้น 1A ต้องอพยพโยกย้ายลงมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ยังมีโครงการเหมืองแร่ที่จะต้องการเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว

การตัดสินใจ บนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ว่าควรใช้ประโยชน์ในด้านใด ที่เป็นการรักษาผืนป่ามากที่สุด กรณีโครงการเหมืองอมก๋อย คงจะเป็นบทพิสูจน์ ว่ารัฐจะเลือกประชาชนหรือเลือกทุน มากกว่ากัน

#วชิรวิทย์ #วชิรวิทย์รายวัน #Vajiravit #VajiravitDaily #Nation #NationTV

logoline