svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ผู้ส่งออกใช้สิทธิการค้า6เดือนลดลง1.35%

23 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วง 6 เดือนปี 62 มีมูลค่า 36,358.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.35% ระบุการใช้สิทธิ์ FTA อาเซียนยังคงนำโด่ง ส่วน GSP สหรัฐฯ ครองแชมป์เหมือนเดิม จับตาสงครามการค้า เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว บาทแข็ง กดดันการใช้สิทธิ์ เตรียมเดินหน้ากระตุ้นการใช้สิทธิ์ต่อ หวังดันทั้งปีเข้าเป้า 8.1 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 9%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี(FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ในช่วง 6เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 36,358.24 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่78% ลดลง 1.35% โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 13 ฉบับ ยกเว้น FTA อาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 11มิ.ย.2562 มีมูลค่ารวม 33,755.81 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 79.02%ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์มูลค่า 42,720.04 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.65%และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชและนอร์เวย์ มูลค่า 2,602.43 ล้านดอลลาร์  คิดเป็น 66.88% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ์มูลค่า3,891.08 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.34%

ทั้งนี้ในด้านการใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก5 อันดับแรก ตลาดอาเซียนมีการใช้สิทธิ์สูงสุด มูลค่า 12,386.53 ล้านเดอลาร์ ฐรองลงมา คือ จีน มูลค่า 9,222.44 ล้านดอลลาร์  ออสเตรเลีย มูลค่า 4,078.06 ล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่น มูลค่า 3,822.76 ล้านดอลลาร์ และอินเดียมูลค่า 2,299.26 ล้านดอลลาร์

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 2,382.93 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น75.16% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,170.52 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 13.59% 

นายอดุลย์กล่าวว่าแนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจการค้าโลก ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของคู่ค้าชะลอตัวตามและยังมีภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น ซึ่งหากส่งออกได้ลดลงก็จะกระทบต่อการใช้สิทธิ์ลดลงตามไปด้วย แต่กรมฯจะเดินหน้าผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ทั้ง FTA และ GSP ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่81,025 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9%

logoline