svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เร่งรักษา 13 สุนัข เกรทเดน ในพระบรมราชานุเคราะห์

23 สิงหาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ แถลงความคืบหน้าการให้การรักษาและฟื้นฟูสุนัขเกรทเดน จำนวน 13 สุนัข ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดย 5 สุนัข อยู่ในกลุ่มที่ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน พักรักษาในห้องสัตว์ป่วยวิกฤติ

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสุนัขเกรทเดน 13 สุนัขไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นสุนัขที่ถูกเจ้าของปล่อยให้อดอาหารจนโซไปดูแลรักษา โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่แผนกสัตวบาลจากสำนักพระราชวัง ไปรับสุนัขจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี ไปรักษาอาการฟื้นฟูร่างภายต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (23 สิงหาคม) ที่ ห้อง 505 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน ประกอบด้วย ผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ ทยานานุภัทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน น.สพ.นนทษิต ชุติญาณวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการให้การรักษาและฟื้นฟูสุนัขเกรทเดน จำนวน 13 สุนัข ในพระบรมราชานุเคราะห์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทางทีมแพทย์ ได้ทำการรักษาและจัดแยกกลุ่มสุนัข เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เฝ้าติดตามอาการ และกลุ่มที่ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยสุนัขทั้งหมดเป็นเพศผู้ 5 สุนัข และเพศเมีย 8 สุนัข นอกจากนี้มีการตั้งชื่อสุนัขทั้ง 13 สุนัขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เร่งรักษา 13 สุนัข เกรทเดน ในพระบรมราชานุเคราะห์


ดร.จงรัก กล่าวว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดรับสุนัขเกรทเดนจำนวน 13 สุนัขไว้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ และโปรดให้สุนัขทั้งหมดเข้ารับการรักษาและดูแล ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยในวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่แผนกสัตวบาล 904 และกรมปศุสัตว์ได้เคลื่อนย้ายสุนัขเกรทเดนจำนวน 13 ตัว จากจังหวัดปทุมธานี เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม เป็นผู้รับสุนัข จากนั้นทางทีมสัตวแพทย์ได้มีการตรวจรักษาเบื้องต้น โดยจัดแยกกลุ่มสุนัขเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เฝ้าติดตามอาการ และกลุ่มที่ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จึงได้จัดทีมสัตวแพทย์ทุกสาขา เข้าให้การดูแลและรักษา เพื่อให้สุขภาพสุนัขมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีการฟื้นตัวเร็วที่สุด

เร่งรักษา 13 สุนัข เกรทเดน ในพระบรมราชานุเคราะห์

น.สพ.นนทษิต กล่าวว่า กลุ่มแรกเป็น กลุ่มเฝ้าติดตามอาการ จำนวน 8 สุนัขประกอบด้วย 1.คุณเชอริล สุนัขเพศเมีย อายุ 11 เดือน, 2.คุณเบนลิซ่า สุนัขเพศเมีย อายุ 2 ปี 3 เดือน, 3.คุณโทโร่ สุนัขเพศผู้ อายุ 5 เดือน, 4.คุณไบรโอนี่ สุนัขเพศเมีย อายุ 2 ปี 3 เดือน, 5.คุณกาสะลอง สุนัขเพศเมีย มีอายุ 5 เดือน, 6.คุณชาลี สุนัขเพศผู้ อายุ 11 เดือน, 7.คุณบิซาโร่ สุนัขเพศผู้ อายุ 2 ปี 3 เดือน และ8.คุณหมอทรัพย์ สุนัขเพศผู้ อายุ 5 เดือน ได้เฝ้าติดตามการดูแลสุขภาพ การดูแลด้านโภชนาการ การป้องกันและกำจัด ปรสิตภายนอกและภายใน การตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ เมื่อรับมาทางทีมสัตวแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยโรคทั้งโรคตา ผิวหนัง ทางเดินหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการอัลตร้าซาวด์และเอ็กซเรย์ เพื่อจะให้ได้ข้อมูลทั้งหมดมาช่วยในการวินิจฉัย และวางแผนดูแลรักษาฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แต่ละสุนัขจะมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกสุนัขทหาร จากอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังเข้ามาดูแลติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสุนัขจะได้รับการดูแลตั้งแต่เรื่องอาหาร โดยมีทีมสัตวแพทย์คอยคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้ต่อวันที่อยู่ในช่วงการฟื้นฟูจะต้องให้ปริมาณเท่าใด

เร่งรักษา 13 สุนัข เกรทเดน ในพระบรมราชานุเคราะห์

น.สพ.นนทษิต กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน ได้พักรักษาตัวที่ห้องสัตว์ป่วยวิกฤต จำนวน 5 สุนัขประกอบด้วย 1. คุณเบลล่า สุนัขเพศเมีย อายุ 5 เดือนตรวจพบเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ(canine parvo virus) ต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด การรักษา ให้สารน้ำเข้าทางเส้นเลือด ให้โปรตีนเข้าทางเส้นเลือด ให้ยาฉีด มีการแยกอยู่ในห้องปลอดเชื้อ อาการโดยรวมอยู่ในภาวะคงที่ สามารถทานอาหารได้ ขับถ่ายเป็นปกติ ทั้งนี้สุนัขเบลล่าได้แยกออกจากสุนัขอื่นมาพักในห้องเดี่ยว เพราะพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบ ซึ่งสุนัขเบลล่ามีการตอบสนองดี ไม่มีภาวะอาเจียน สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ 2.คุณแดรี่ สุนัขเพศเมียอายุ 5 เดือน พบภาวะอ่อนแรง ทำการให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาปฏิชีวนะ ให้ยาบำรุง สภาพโดยรวมดีขึ้น สามารถทานอาหารและขับถ่ายได้ ซึ่งทางทีมสัตวแพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าสามารถย้ายจากการพักรักษาตัวที่ห้องสัตว์ป่วยวิกฤติไปอยู่ในกลุ่มที่เฝ้าติดตามอาการได้ 3.คุณคิมเบอรี่ สุนัขเพศเมีย อายุ 5 เดือน ตรวจพบภาวะโลหิตจาง มีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำมาก ทำการถ่ายเลือดให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ยาบำรุง อาการโดยรวม ตอบสนองได้ดี ทานอาหารได้ ขับถ่ายเป็นปกติ 4.คุณบาตู สุนัขเพศผู้ อายุ 2 ปี 3 เดือน ตรวจพบภาวะกระเพาะอาหารขยายใหญ่ ทำการสอดท่อระบายแก๊ส อาการโดยรวม อยู่ในภาวะคงที่ สามารถทานอาหารได้ แต่ยังพบภาวะอ่อนแรง 5.คุณอาร์ยา สุนัขเพศเมีย อายุ 5 เดือน พบภาวะอ่อนแรง มีโปรตีนในเลือดต่ำ ให้สารน้ำโปรตีนทางหลอดเลือด ให้ยาปฏิชีวนะ และยาบำรุง สภาพร่างกายโดยรวม ดีขึ้น ตอบสนองได้ดี ทานอาหาร ขับถ่ายเป็นปกติ

เร่งรักษา 13 สุนัข เกรทเดน ในพระบรมราชานุเคราะห์

ด้านผศ.น.สพ.ดร.คงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ลูกสุนัขทุกตัวหลุดเกณฑ์มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน พบว่ามีการขาดสารอาหารมาประมาณ 1 เดือนโดยไม่ได้รับการกินอาหารที่เพียงพอ สุนัขอายุมากโดยปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 60 กิโลกรัม แต่สุนัขเกรทเดนที่รับมาอายุมากสุดมีน้ำหนักที่ 40 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการดูแลฟื้นฟูมากกว่า 1 เดือน และจะกลับสู่ภาวะปกติกลับมาแข็งแรงในระยะเวลา 2 เดือน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับสุนัขที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าติดตามอาการ สามารถเดินและทำกิจกรรมได้ ส่วนสุนัขที่พักรักษาตัวที่ห้องสัตว์ป่วยวิกฤติ ทุกตัวตอบสนอง รู้สึกตัว มีอาการซึม จะต้องระวังและเฝ้าติดตามภาวะแทรกซ้อน 1.ต้องดูเรื่องการทานอาหารและกระบวนการย่อย ระวังในเรื่องอาเจียน และท้องเสีย ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบอาการดังกล่าว 2.การติดเชื้อภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้รศ.สพ.ญ.ดร.อารีย์ กล่าวว่า สำหรับสุนัขที่พักรักษาตัวที่ห้องสัตว์ป่วยวิกฤติ บางสุนัขมีความจำเป็นต้องให้เลือด ปริมาณเลือดในธนาคารเลือด ที่ได้สำรองไว้ใช้มีอยู่ในปริมาณจำกัด โดยกลุ่มสุนัขเกรทเดน เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ ดังนั้นการจะให้เลือด จะต้องคำนวณตามน้ำหนัก ทำให้ต้องใช้เลือดในปริมาณมาก แม้ว่าจะมีการสำรองเลือดไว้ใช้แล้ว แต่บางช่วงต้องมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน เพื่อขอรับบริจาคเลือดให้มีความเพียงพอกับความต้องการ ส่วนการนำเลือดที่ได้รับการบริจาคไปใช้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์เดียวกัน ซึ่งกรุ๊ปเลือดของสุนัขจะมี 8 กรุ๊ป ก่อนนำไปใช้ทางสัตวแพทย์จะมีขั้นตอนในการตรวจการเข้ากันของเลือดว่าสามารถสามารถเข้ากันได้หรือไม่ ทั้งนี้ธนาคารมีภาวะการสำรองเลือดไว้ช่วยชีวิตไม่เพียงพออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากประชาชนที่เลี้ยงสุนัขทุกสายพันธุ์ที่มีน้ำหนักตัวสุนัขตั้ง 17 กิโลกรัมขึ้นไป อายุตั้งแต่ 1-7 ปี สามารถเข้ามาบริจาคเลือดได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 07.30-19.30 น. ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน


logoline